ส่อพิรุธ!! พรรคส้ม ยก 5 ข้อค้าน กม.สถานบันเทิงฯ ถามใครกันแน่ได้ประโยชน์

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า จากกรณีที่รัฐบาล ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เร่งรีบที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ที่มีกาสิโนเป็นหัวใจหลัก ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนปิดสมัยประชุมสภานั้น พรรคประชาชนไม่สามารถเห็นชอบในการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

– เป้าหมายไม่ชัดเจน รัฐบาลไม่มีหลักการและเหตุผลที่ชัดเจนในการผลักดันกาสิโนถูกกฎหมายครั้งนี้ ตอบสังคมไม่ได้ว่าต้องการอะไรกันแน่ กลับไปกลับมาระหว่างการเน้นไปที่นักท่องเที่ยวต่างชาติกับนักพนันคนไทย กลับไปกลับมาระหว่างการใช้กาสิโนแก้ปัญหาพนันผิดกฎหมายกับการป้องกันไม่ให้คนไทยเข้าเล่นในกาสิโน ซึ่งเป้าหมายที่ต่างกัน จะนำไปสู่การออกแบบกฎหมายและกลไกกำกับควบคุมที่ต่างกันด้วย

– ศึกษาอย่างไม่รอบคอบไม่รัดกุม รัฐบาลยังไม่ได้จัดทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) ที่ละเอียดเพียงพอ รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่รัฐบาลนำมาอ้างนั้นเต็มไปด้วยช่องโหว่และการคาดการณ์ด้วยสมมุติฐานที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง จึงใช้เป็นหลักในการอ้างอิงไม่ได้ เมื่อยังไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ที่รอบคอบ รัดกุม และเชื่อถือได้ การผลักดันกฎหมายออกมาก่อน จึงสุ่มเสี่ยงเกินไปที่จะล้มเหลว ได้ไม่คุ้มเสีย และอาจจะสร้างปัญหาอื่นในอนาคต แทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

– ไม่มีมาตรการป้องกันผลกระทบทางสังคม รัฐบาลยังขาดแนวทางที่ชัดเจนในการปรับปรุงกฎหมาย และกลไกในการป้องกันผลกระทบจากกาสิโน เช่น มาตรการในการแก้ปัญหาการติดการพนัน มาตรการในการป้องกันปัญหาอาชญากรรมที่อาจถูกกระตุ้นจากการมีกาสิโน รวมถึงขาดมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันปัญหาการฟอกเงิน และการทุจริตคอร์รัปชัน ที่จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นหากมีกาสิโน

– แผนการดำเนินการกับเอกชนไม่โปร่งใส รัฐบาลขาดความชัดเจนเรื่องเกณฑ์การออกใบอนุญาตที่จะรับประกันความโปร่งใส โดยตีเช็คเปล่าให้คณะกรรมการนโยบายมีดุลพินิจเต็มที่ในการออกแบบ ยังไม่นับข้อครหาว่ามีการเตรียมให้ใบอนุญาตแก่บริษัทกาสิโน และกลุ่มทุนใหญ่ที่ใกล้ชิดพรรคแกนนำรัฐบาลไว้ล่วงหน้ากันแล้ว

– รัฐบาลเร่งรีบแบบไม่ตรงไปตรงมา รัฐบาลเดินหน้านโยบายกาสิโนถูกกฎหมายอย่างเร่งรีบผิดปกติ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่นโยบายที่เคยหาเสียงไว้กับประชาชน นอกจากนี้ ยังสื่อสารโดยพยายามหลีกเลี่ยงข้อเท็จจริงที่ว่า กาสิโนจะเป็นธุรกิจและรายได้หลักของสถานบันเทิงครบวงจร

หัวหน้าพรรคประชาชน ระบุว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลจึงไม่สามารถตอบประขาชนได้ว่าทำไมต้องเร่งรีบเสนอร่างกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร และใครกันแน่ที่จะได้ประโยชน์จากร่างกฎหมายนี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญปัญหา และความท้าทายที่เร่งด่วนกว่า ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูเยียวยาปัญหาที่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว หรือการรับมือกับการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออก ผู้ประกอบการในประเทศ แรงงาน เกษตรกร และประชาชนทุกคน แต่เมื่อถูกประชาชน และฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์การเร่งรีบผลักดันกาสิโน รัฐบาลกลับหันมากล่าวหาผู้ที่คัดค้านว่ากำลังจะสร้างเงื่อนไขนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลหรือการรัฐประหาร

“เชื่อมั่นว่า หากรัฐบาลเร่งรีบผลักดันสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริง ๆ แม้จะมีเสียงต่อต้านคัดค้าน พี่น้องประชาชนก็พร้อมที่จะปกป้องรัฐบาล ทว่าก่อนหน้านี้ ในวันที่ประชาชนต้องการความมุ่งมั่นกล้าหาญจากรัฐบาล เช่น ความมุ่งมั่นกล้าหาญที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ความมุ่งมั่นกล้าหาญที่จะปฏิรูปกองทัพ หรือความมุ่งมั่นกล้าหาญในการจัดการกับกลุ่มทุนที่เอาเปรียบประชาชน รัฐบาลกลับลังเลแล้วอ้างว่าต้องรอบคอบบ้าง ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งบ้าง เราไม่เคยมองเห็นความมุ่งมั่นกล้าหาญของรัฐบาลอย่างกรณีการผลักดันกาสิโนถูกกฎหมายเลย” นายณัฐพงษ์ กล่าว

พร้อมแสดงความหวังว่า วันพรุ่งนี้ (9 เม.ย.) รัฐบาลจะเล็งเห็นถึงอันตรายจากการเร่งรีบผลักดันกาสิโนอย่างไม่สมเหตุสมผลครั้งนี้ และหวังว่ารัฐบาลจะตระหนักว่า การเร่งรีบดังกล่าวจะนำไปสู่การลดทอนความเชื่อมั่นของประชาชน ต่อการเมืองในระบบรัฐสภาและต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างไม่น่าให้อภัย

*จี้ นายกฯ “ลาออก-ยุบสภา” หากกม.ไม่ผ่านวาระแรก

ด้านนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า การโหวตในวาระแรกพรุ่งนี้จะต้องติดตามดูว่าจะมีพรรคร่วมรัฐบาลใดบ้าง เนื่องจากบางพรรคไม่เห็นด้วย แต่ไม่แน่ใจว่ามีการต่อรองหรือไม่ในการผ่านกฎหมายฉบับนี้ แต่ยอมรับว่าเสียงของพรรคการเมืองฝ่ายค้านห่างจากเสียงรัฐบาลมากพอสมควร ซึ่งไม่ได้กังวลความวุ่นวายจากกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้าน ซึ่งเป็นสิทธิ์ความชอบธรรมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรนำไปคิดทบทวนว่าจำเป็นต้องเร่งรีบให้ผ่านวาระที่หนึ่งในวันพรุ่งนี้และในสมัยประชุมนี้จริงหรือไม่

โดยธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมือง หากร่างกฎหมายของครม.ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯในวาระแรก นายกฯจะต้องลาออก เพราะไม่สามารถคุมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลได้ และกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายการเงิน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 68)

Tags: , , , ,
Back to Top