สถาปัตย์จุฬาฯ จับมือ PMCU จัดหลักสูตรพัฒนาผู้จัดการสินทรัพย์และนักพัฒนาเมืองรุ่นใหม่

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) จัดหลักสูตร “พัฒนาผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟเพื่อสร้างรายได้” เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสินทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ มุ่งเน้นการบริหารพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟเพื่อให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างศูนย์กลางของชุมชนในด้านเศรษฐกิจและสังคม โดย ซียู ดีโฟร์เอส เอ็นเทอร์ไพรส์ เป็นผู้ดำเนินการจัดการหลักสูตรนี้

ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้เล็งเห็นแนวโน้มการพัฒนาระบบรถไฟรางคู่ในสถานีรถไฟทั่วประเทศ นำมาซึ่งโอกาสสำคัญในการบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบสถานีให้สามารถให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพและมูลค่าสูงสุด โดยผสานแนวคิด Transit-Oriented Development (TOD) และการบริหารจัดการพื้นที่สถานีรถไฟเพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาชุมชน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะสามารถสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน”

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้ช่วยคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ขยายความร่วมมือทางด้านวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมัน ที่เป็นต้นแบบของการพัฒนา TOD ที่ประสบความสำเร็จ ความร่วมมือเหล่านี้ได้ช่วยให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้สะสมองค์ความรู้ในการพัฒนาพื้นที่ภายใต้แนวคิด TOD ดังนั้นทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จึงมีแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ และสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาของพื้นที่รอบสถานีรถไฟในประเทศไทย”

ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้เปิดหลักสูตร “พัฒนาผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟเพื่อสร้างรายได้” โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการบริหารจัดการพื้นที่รอบสถานีรถไฟอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน หลักสูตรนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่สถานีรถไฟ ผ่านกรณีศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีศึกษาต้นแบบจากประเทศญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟให้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว”

ดร.จรัสพัฒน์ พฤกษารัตนวุฒิ ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “PMCU จึงได้ร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในการพัฒนาหลักสูตร โดยใช้กรณีศึกษาในการบริหารจัดการพื้นที่จากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ซึ่งเป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน เช่น สยามสแควร์ สวนหลวงสแควร์ และย่านบรรทัดทอง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยหัวใจสำคัญของหลักสูตรนี้ คือ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน มุ่งเน้นไปที่การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา ตามแนวคิด “การทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของพื้นที่ ผู้เช่า และชุมชน” เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ตอบโจทย์ของทุกฝ่าย และสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง”

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้ช่วยคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กล่าวว่า “การบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ (Property Management) จะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มมูลค่าของพื้นที่ และสร้างความยั่งยืนผ่านการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่าและเป็นระบบ โดยการนำหลักการของ TOD มาช่วยในการสร้างผลตอบแทนที่สมดุลทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยหลักสูตรนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาระบบรางของประเทศไทยให้เป็นมากกว่าระบบคมนาคม เป็นการสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง สร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชน และดึงดูดการลงทุนเข้ามาในพื้นที่เพื่อร่วมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนในระยะยาว”

ไฮไลต์หลักสูตร:

• แนวทางการจัดการบริหารพื้นที่เพื่อให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบันและอนาคต

• แนวทางการจัดการบริหารพื้นที่ (Property Management) เพื่อเพิ่มมูลค่าพื้นที่และสร้างความยั่งยืนร่วมกับชุมชน

• กรณีศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

• การถอดรหัสองค์ความรู้จาก “สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU)” ซึ่งเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น สยามสแควร์ และโครงการสมาร์ทซิตี้ระดับนานาชาติ

หลักสูตรนี้จะจัดขึ้นในรูปแบบการอบรมในระยะเวลา 2 วัน เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง พร้อมโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารจากภาครัฐและเอกชน โดยกลุ่มเป้าหมายของหลักสูตรประกอบด้วย นายสถานีรถไฟทั่วประเทศ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และผู้ที่สนใจด้านการบริหารจัดการพื้นที่รอบสถานีรถไฟ

หลักสูตรนี้ไม่เพียงมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันให้สถานีรถไฟทั่วประเทศสามารถกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน รองรับการเติบโตของระบบขนส่งมวลชน และช่วยส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ

หลักสูตร “พัฒนาผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟเพื่อสร้างรายได้” มีรอบการจัดอบรม คือ รอบที่ 1 วันที่ 22-23 พฤษภาคม 2568 และรอบที่ 2 วันที่ 12-13 มิถุนายน 2568 เปิดรับสมัครแล้ว ตั้งแต่วันนี้ – 1 พฤษภาคม 2568 โดยมีค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม 18,000 บาท/ท่าน/รอบ พิเศษ สำหรับผู้ที่สมัครภายในวันที่ 18 เมษายน 2568 จะได้รับ สิทธิ์ Early Bird ลดเหลือเพียง 16,600 บาท/ท่าน/รอบ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 68)

Tags:
Back to Top