
นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 34.60 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจาก ปิดตลาดเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 34.20 บาท/ดอลลาร์ โดยเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินภูมิภาคที่ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์
เงินบาทเช้านี้เปิดอ่อนค่าจากท้ายตลาด โดยเป็นระดับที่อ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือน (กลางเดือนม.ค. 68) โดย หลัก ๆ ตลาดกังวลมาตรการกำแพงภาษีสหรัฐฯ ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกโดนเทขาย และหุ้นทั่วโลกลง
โดยระหว่างวันจึงต้องติดตาม Fund flow เนื่องจากวานนี้หุ้นทั่วโลกลง จึงเป็นไปได้สูงที่ต่างชาติอาจขายหุ้นและพันธบัตร ไทยเช่นกัน ขณะที่เช้านี้ราคาทองร่วง ราคาทองคำในตลาดโลกหลุด 3,000 เหรียญสหรัฐฯ จึงอาจมี flow ฝั่งนำเข้าทองคำ ซื้อดอลลาร์ ขายบาทได้
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 34.50 – 34.85 บาท/ดอลลาร์
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ 147.52 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 146.49 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ 1.0958 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.0977 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท. อยู่ที่ระดับ 34.130 บาท/ดอลลาร์
- นายกฯ นัดประชุมรับมือ เส้นตายภาษีทรัมป์ 8 เม.ย.เคาะแผนรับมือ ดัน “พิชัย ชุณหวชิร” หัวหน้าทีมลุยสหรัฐ 17 เม. ย.นี้ วางกรอบเจรจาเพิ่มนำเข้า ลดภาษีให้สหรัฐเป็นทางเลือกสุดท้าย พร้อมเพิ่มความร่วมมือทหาร ลดพึ่งพาจีน ลดใช้ไทยเป็นฐานส่งออก จีน ส.อ.ท.ชี้ 7 กลุ่มอุตสาหกรรมกระทบหนัก “ยานยนต์-อาหาร-เหล็ก-สิ่งทอ”
- “นักเศรษฐศาสตร์” ชี้ไทย กระทบหนัก เผชิญ 2 โจทย์ใหญ่ “แผ่นดินไหว-ทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าไทย 36%” ด้าน “กอบ ศักดิ์” ชี้เศรษฐกิจไทยเจอแรงต้านแรงกว่าที่คาด หวัง “นโยบายการเงิน-การคลัง” ช่วยพยุง “เศรษฐกิจไทย” เร่งด่วน มอง กนง. มี ช่อง “ลดดอกเบี้ย” ได้ 30 เม.ย. นี้ แนะ “การคลัง” ออกนโยบายให้ตรงจุด หาทางรอดเศรษฐกิจไทย “พิพัฒน์” ชี้ไทยต้องเร่ง เจรจา “ทรัมป์” ลดผลกระทบ “กสิกรไทย” เชื่อ “ลดดอกเบี้ย” ช่วยลดภาระประชาชน-ธุรกิจ
- “กระทรวงพาณิชย์” โดยกรมการค้าต่างประเทศ สั่งเฝ้าระวังสินค้าที่มีความเสี่ยงแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทยในการส่ง ออกไปสหรัฐฯ ภายหลังสหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่มาจากไทย เป็นอัตราร้อยละ 36 ด้าน “สหรัฐฯ” โวกว่า 50 ประเทศ แห่ขอเจรจา “ทรัมป์” หลังประกาศรีดเก็บภาษี ด้าน “อียู” ไม่ยอมเตรียมเจรจา ฮึ่มพร้อมตอบโต้หากจำเป็น
- ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้ รัฐบาลสุทธิในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567-กุมภาพันธ์ 2568) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 996,458 ล้านบาท ใกล้เคียงกับประมาณการและ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยสำคัญคือ 1.ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.การนำส่งรายได้เหลื่อมมาจากปีก่อน ของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง และ 3.การนำส่งเงินส่วนเกินจากการ จำหน่ายพันธบัตรจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลสูงกว่าประมาณการ อย่างไรก็ดี การคืนภาษีของกรมสรรพากรซึ่งเป็นรายการหักสูงกว่าประมาณการ ประกอบกับภาษีรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่อง จากปริมาณรถยนต์ที่ชำระภาษี ต่ำกว่าประมาณการและผลกระทบจากมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
- “คลัง” เดินเครื่องทบทวนเงื่อนไขหวังผลักดันไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ EV ปูพรมสนับสนุนการเติบโตอย่างมี ประสิทธิภาพ ปักธงเข็น 2 ขา ทั้งด้านดีมานด์และซัพพลาย พร้อมแจงไม่ทิ้งอุตสาหกรรมรถสันดาป ยันประคับประคองให้สามารถปรับตัวและ เติบโตไปด้วยกัน
- สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (7 เม.ย.) ขณะที่สกุลเงินฟรังก์สวิสแข็งค่าขึ้นเช่นกัน หลังจากนักลงทุนเดินหน้าซื้อสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลว่ามาตรการ ภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ จะส่งผลให้เกิดสงครามการค้าและทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ในวันจันทร์ (7 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทองคำและหันไป ถือครองสกุลเงินที่ปลอดภัยซึ่งรวมถึงสกุลเงินดอลลาร์ ท่ามกลางความวิตกกังวลว่ามาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จะส่งผลให้เศรษฐกิจ ทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย
- นักลงทุนวิตกกังวลว่าสงครามการค้าจะส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังจากปธน.ทรัมป์ประกาศใช้ มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) และภาษีศุลกากรพื้นฐาน (Baseline Tariff) เมื่อวันพุธที่ 2 เม.ย. โดย ภาษีศุลกากรตอบโต้จะแตกต่างกันไปเป็นรายประเทศ นับตั้งแต่ 10-49% โดยขึ้นอยู่กับการตั้งกำแพงภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีของ ประเทศนั้น ๆ ที่มีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐ และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย. ส่วนภาษีศุลกากรพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 10% เท่ากันทุก ประเทศ และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เม.ย.
- นักลงทุนจับตาการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ใน สัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมี.ค., ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมี.ค., ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน เม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 68)
Tags: ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท