
พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่ากรณีอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มขณะกำลังก่อสร้างนั้น DSI ได้รับสอบสวนในความผิดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเป็นคดีพิเศษ พร้อมทั้งพิจารณาความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) ควบคู่กันไปด้วย
ในส่วนของความผิดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวนั้นจะพิจารณาว่าการถือหุ้นของคนไทยเป็นการอำพราง (นอมินี) หรือไม่ โดยมี ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีฯ เป็นหัวหน้าคณะสอบสวน เบื้องต้นได้ไปตรวจสอบที่บ้านพักของนายประจวบ ศิริเขตร ผู้ถือหุ้น 10.2% ในบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) ในจังหวัดร้อยเอ็ดแต่ไม่พบตัว จากการสอบถามภริยาแล้วให้การว่ามีอาชีพก่อสร้าง รายได้เดือนละหมื่นกว่าบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับการเป็นผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลหลายแห่ง จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นการถือหุ้นอำพรางหรือนอมินี ส่วนคนไทยที่ถือหุ้นรายอื่นกำลังติดตามอยู่
“ตอนนี้เราจะโฟกัสไปที่ความผิดเรื่องนอมินีที่มีการกล่าวหาไว้ก่อน ส่วนความผิดอื่นเป็นเรื่องที่จะมีการสอบสวนในภายหลัง” พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าว
นอกจากนี้ บริษัท ไชน่าฯ ยังไปร่วมทุนเป็นกิจการร่วมค้ากับนิติบุคคลหลายแห่ง ซึ่งคณะกรรมการจะเน้นไปที่กรณีร่วมทุนกับ บมจ.อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็น กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (ITD-CREC) ที่ชนะประมูลก่อสร้างอาคาร สตง. ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน
โดยขณะนี้มีหลายหน่วยงานกำลังดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังตรวจสอบเรื่องคุณภาพวัสดุก่อสร้าง
น.ส.กนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลของผู้ถือหุ้นทั้งหมดพบว่าเป็นผู้ถือหุ้นและร่วมก่อตั้งบริษัท ไชน่าฯ มาตั้งแต่แรก โดยนายมานัส ศรีอนันท์ เดิมถือหุ้น 3.09 แสนหุ้น ก่อนที่จะโอนหุ้นไปให้นายโสภณ มีชัย จนตัวเองเหลือเพียง 3 หุ้น ซึ่งกำลังติดตามว่ามีการซื้อขายหุ้นจริงหรือไม่ นอกจากนี้ยังทราบมาว่าผู้ถือหุ้นทั้ง 3 รายไม่เคยประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างมาก่อนเลย ซึ่งกำลังตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติม
ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า DSI ได้รับโจทย์จากรัฐบาลให้ตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ไชน่าฯ ได้ร่วมทุนและสามารถประมูลงานได้ 29 โครงการ มูลค่ารวม 2.2 หมื่นล้านบาท โดยหนึ่งใน 29 โครงการคือโครงการรถไฟความเร็วสูง และคาดว่าจะใช้เวลาในการสอบสวนไม่เกิน 2 เดือนจะสามารถเชื่อมต่อโครงการได้ทั้งหมด
“เราต้องค้นหาความจริงให้ปรากฎว่า ทำไมเขาไม่ไปประมูลงานเอง ทำไมเขาต้องสร้างนอมินีอำพรางตัวเองแล้วมาร่วมทุนกับคนที่มีชื่อเสียงเพื่อให้ภาครัฐเชื่อถือ” ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าว
นอกจากนี้ยังต้องค้นหาความจริงว่า ราคากลางของอาคาร สตง.อยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท ทำไมบริษัทฯ จึงยอมฟันราคาลงมาเหลือ 2.1 พันล้านบาท ซึ่งทำให้ภาครัฐหลงเข้าใจผิด
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เผยกำชับคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษกรณีอาคาร สตง.ถล่ม ให้แสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบ โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับอย่างเคร่งครัด และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หลักฐานเกิดความมั่นคงแน่นหนามากขึ้น
“เหตุอันหนึ่งจะอ้างแผ่นดินไหว ในพื้นที่ 320 ล้านไร่ของประเทศไทยจะมีเฉพาะพื้นที่ของ สตง.กลางเมืองหลวง 11 ไร่เท่านั้นเองที่มีคนเสียชีวิตไปแล้ว 15 ราย และบาดเจ็บ และต้องติดตามอีก 103 คน…สอบเสร็จแล้วต้องตอบสังคมได้” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
ขณะนี้พบปัญหาหลายเรื่อง เช่น กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานดูแลเรื่องการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล และการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แต่ไม่ได้ดูแลเรื่องการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการร่วมค้า (Joint Venture) เพราะไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายแพ่ง หน่วยงานที่รับผิดชอบกลับเป็นกรมสรรพากรที่ดูแลเรื่องการเสียภาษี ไม่มีคนที่จะมาดูแลเรื่องการจดทะเบียน ซึ่งคงต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ และข้อมูลการสอบสวนเบื้องต้นพบว่าบริษัทฯ ที่รับดำเนินการก่อสร้างอาคารหลังนี้ได้ไปร่วมทุนกับ 11 บริษัท และประมูลรับงานได้ 29 โครงการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 เม.ย. 68)
Tags: DSI, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, ตึก สตง., ตึกถล่ม, ทวี สอดส่อง, นอมินี, ยุทธนา แพรดำ