วิจัยกสิกร ประเมินสหรัฐฯ ขึ้นภาษี 37% ฉุดส่งออกไทยปีนี้ติดลบ กด GDP โตแค่ 1.4%

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า การประกาศเพิ่มภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) จากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงเกินคาดเป็นการเดินเกมเพื่อเจรจา ซึ่งกำหนดการขึ้นภาษีที่จะมีผลในวันที่ 9 เม.ย. ค่อนข้างกระชั้น และไทยคงต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่จะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกปี 68 จะหดตัว -0.5% จากเดิมที่มองไว้ 2.5% ส่วน GDP ไทย ได้รับผลกระทบราว 1% ทำให้ประมาณการ GDP ใหม่อยู่ที่ 1.4% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 2.4% ซึ่งการประเมินดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลของการเจรจากับสหรัฐฯ

“รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และมีไทม์ไลน์ในการเจรจา ซึ่งรัฐบาลเองก็มีการแสดงท่าทีแล้วว่า พร้อมที่จะเข้าร่วมการเจรจา แต่ก็ยังไม่สามารถรู้ได้ว่า แท้จริงแล้วสหรัฐฯ อยากได้อะไรจากการขึ้นภาษีไทยครั้งนี้ เพราะสิ่งที่ทรัมป์ต้องการกว้างมาก อย่างไรก็ดี ถ้าไทยเจรจาช้า หรือไม่ทำอะไรเลยก็อาจกระทบเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีกได้ ผลของการเจรจาขึ้นอยู่กับเวลา และดีลที่จะได้มา รัฐบาลต้องทำงานใกล้ชิดกับภาคเอกชน เพราะท้ายที่สุดเอกชนจะเป็นผู้ได้รับและเสียประโยชน์อย่างไรก็ดี ส่วนโอกาสที่ไทยจะโดนขึ้นภาษีไปถึง 72% เป็นไปได้น้อย ถ้าไทยไม่ไปสู้หรือตอบโต้สหรัฐฯ” น.ส.ณัฐพร กล่าว

แก้นโยบายการค้าตรงจุด-นโยบายการเงินการคลังตัวเสริม

น.ส.ณัฐพร มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกยังสามารถเติบโตได้บ้าง แต่ครึ่งปีหลังแทบไม่โตเลย อย่างไรก็ดี เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ระดับที่เรียกว่าถดถอย ทั้งนี้ ไทยมีพื้นที่ด้านนโยบายการเงินและการคลังจำกัด ถ้าจะแก้ให้ตรงจุดก็ต้องแก้ที่นโยบายการค้า ส่วนนโยบายการเงินการคลังจะเป็นตัวเสริมในการช่วยบรรเทาผลกระทบภาคธุรกิจของไทย

“การใช้งบประมาณมาดูผลกระทบอาจต้องระมัดระวังมาก ๆ นโยบายการคลังอาจต้องผ่อนคลายเพิ่มเติม โดยที่กสิกรฯ ประเมิน GDP ที่ 1.4% คือยังไม่ได้ประเมินรวมว่ารัฐบาลจะมีการกู้เพิ่ม ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบเดือนเม.ย. นี้ อาจมีการพิจารณาลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง และครึ่งปีหลังปรับลดอีกครั้งหนึ่ง” น.ส.ณัฐพร กล่าว

เบื้องต้นกระทบส่งออก 4 แสนลบ. มูลค่าเสียหายขึ้นกับผลเจรจา

น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จาก Reciprocal Tariff ที่สหรัฐฯเก็บไทย 37% เบื้องต้นคาดว่าจะกระทบมูลค่าการส่งออกของไทยประมาณ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 4 แสนล้านบาท ในปี 68

ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าว อาจจะปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาของภาครัฐหลังจากนี้ โดยอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า รถยนต์และชิ้นส่วน เกษตร และอาหาร เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อประกอบภาพกับกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอลงเพิ่มเติมหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ (MPI) เสี่ยงจะหดตัวลงกว่าเดิม หรือติดลบ 3.4% ในปี 68 (เดิมคาดที่ติดลบ 1%) ขณะเดียวกัน แรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวก็ลดน้อยลง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้เราปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 68 ลงมาที่ 35.9 ล้านคน (เดิมคาด 37.5 ล้านคน)

เงินบาทแนวโน้มอ่อนค่า

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวถึงทิศทางค่าเงินบาทว่า ในระยะใกล้นี้ค่าเงินยังไม่ได้ผันผวนอ่อนค่าไปมาก โดยมองกรอบที่ 33.00-34.50 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากตอนนี้ทรัมป์อยากให้ดอลลาร์อ่อนค่า และพอราคาทองคำขยับขึ้นเรื่อย ๆ เงินบาทก็จะยิ่งแข็งค่า ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มถดถอย ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจลดดอกเบี้ยถึง 4 รอบ

ส่วนทิศทางแนวโน้มเงินบาทในระยะข้างหน้า ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง และการที่คาดว่ากนง. จะลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ประกอบกับเศรษฐกิจที่แทบจะไม่โต ขณะที่ไทยอาจขาดดุลการค้าในบางเดือนนั้น จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 เม.ย. 68)

Tags: , , ,
Back to Top