
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวบนบก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.20 น. (ตามเวลาในประเทศไทย)ขนาด 8.2 มาตราริกเตอร์ (ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา) หรือขนาด 7.7 มาตราโมเมนต์ (ตามรายงานของ USGS) จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ เมืองมันดาเลย์ ประเทศเมียนมา ห่างจากอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน 320 กิโลเมตร ทำให้รู้สึกสั่นไหวได้เป็นบริเวณกว้างในประเทศไทย
โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สาเหตุเกิดจากกลุ่มรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง มีความยาวประมาณ 1,200 กม. วางตัวอยู่แนวทิศเหนือ-ใต้ ผ่านกลางประเทศเมียนมา ต่อมาได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่องหลายครั้ง ข้อมูลอัปเดตล่าสุด วันที่ 2 เมษายน 2568 เวลา 16.00 น. รวมทั้งสิ้น 272 ครั้ง โดยมีขนาดตั้งแต่ 1.0 -7.0 ขึ้นไป
นายปัญญา จารุศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกายที่เป็นรอยเลื่อนที่มีขนาดใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอนาคตยังจะเกิดขึ้นได้อีกแน่นอน โดยเป็นการอุบัติซ้ำในรอบ 50 ปี 80 ปี หรือ 100 ปี แต่ไม่ได้ระบุว่าจะเกิดขึ้นอีกตรงจุดไหน และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่กรมทรัพยากรธรณี ได้รวบรวม 16 รอยเลื่อนที่มีพลังในประเทศไทย

- กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่าน จ.เชียงราย และ เชียงใหม่
- กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่าน จ.เชียงราย
- กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว พาดผ่าน จ.เชียงราย
- กลุ่มรอยเลื่อนเวียงแหง พาดผ่าน จ.เชียงใหม่
- กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่านจ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก
- กลุ่มรอยเลื่อนเมย พาดผ่าน จ.กำแพงเพชร และ จ.ตาก
- กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่าน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน
- กลุ่มรอยเลื่อนเถิน พาดผ่าน จ.ลำปาง และ จ.แพร่
- กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา พาดผ่าน จ.พะเยา จ.เชียงราย และ จ.ลำปาง
- กลุ่มรอยเลื่อนปัว พาดผ่าน จ.น่าน
- กลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิถถ์ พาดผ่าน จ.อุตรดิตถ์
- กลุ่มรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ พาดผ่าน จ.เพชรบูรณ์ และ จ.เลย
- กลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี
- กลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี จ.กำแพงเพชร จ.อุทัยธานี จ.ตาก และ จ.สุพรรณบุรี
- กลุ่มรอยเลื่อนระนอง พาดผ่าน จ.ระนอง จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.พังงา
- กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่าน จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต
นอกเหนือจาก 16 รอยเลื่อนมีพลังดังกล่าวแล้วยังมีรอยเลื่อนอีกหลายแห่งที่กรมทรัพยากรธรณีไม่เคยบันทึกไว้ ได้แก่
- รอยเลื่อนซ่อนเร้น ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
- รอยเลื่อนตาบอด ที่ อ.บางกะทุ่ม จ.พิษณุโลก และ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
- รอยเลื่อนนอกสายตา ที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก
“แผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยเกิดขึ้นต่อเนื่องแต่ไม่มีความรุนแรง คงได้แต่ภาวนาให้มีการปลดปล่อยพลังงานไปเรื่อย ๆ จะได้ไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน” นายปัญญา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 เม.ย. 68)
Tags: ปัญญา จารุศิริ, แผ่นดินไหว