
จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (public hearing) ต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล เพื่อนำข้อมูลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการและประชาชนไปประเมินผลกระทบจากการเปิดประมูลนำคลื่น 3500 MHZ ซึ่ง ปัจจุบันใช้รองรับการรับชมทีวีผ่านดาวเทียมระบบ C Band ไปใช้ในกิจการโทรคมนาคม อันจะส่งผลให้เกิดจอดำครั้งใหญ่และอาจเป็นจุดล่มสลายของอุตสาหกรรมดิจิทัลทีวี ในครั้งนี้ถือเป็นประเด็นที่อุตสาหกรรมให้ความสำคัญอย่างมาก
ดังนั้น นายสุภาพ คลีขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบ ดิจิตอล (ประเทศไทย) และคณะ นำทัพผู้บริหารระดับสูงของดิจิทัลทีวีตบเท้าเข้าร่วมแสดงจุดยืนรักษาคลื่น 3500 MHZ พร้อมหน้า ไม่ว่าจะเป็น นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ [GRAMMY], นายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.เดอะวัน เอ็นเตอร์ไพดรส์ [ONEE] หรือช่องวัน31 ,นายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมไทยรัฐทีวี , นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.บีอีซี เวิลด์ [BEC] และ ช่อง 3 , นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น หรือช่องเนชั่นทีวี นางสาวนงลักษณ์ งามโรจน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 , นายศิริ บุญพิทักษ์เกศ กรรมการบริหาร บมจ.อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ [AMARIN] ผู้บริหารช่องอมรินทร์ทีวี
โดยแสดงจุดยืนดังนี้
-
ความล้มเหลวจากการเปลี่ยนผ่านการรับชมโทรทัศน์สู่ระบบภาคพื้นดิน (DVBT) ของ กสทช.ทำให้ระบบการรับชมทีวีของไทยในปัจจุบันรับชมผ่านระบบจานดาวเทียม (DVBC) ถึง 70% ซึ่งในจำนวนนี้รับชมในระบบ C Band ที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz เป็นส่วนหนึ่งในการรับส่งสัญญานถึง 60% กสทช.จึงควรดูแลรักษาความถี่นี้เพื่อผู้ชมทีวีส่วนใหญ่ของประเทศ ต่อไปให้นานที่สุดจนสิ้นสุดอายุของดาวเทียมไทยคม หรืออย่างน้อยจนสิ้นสุดอายุใบอนุญาตเพื่อทดแทนการรับชมทีวีภาคพื้นดินที่ กสทช.ไม่สามารถขยายจำนวนฐานผู้ชมได้ตามคำเชิญชวน
-
คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมยังมีเพียงพอต่อการใช้งาน ไม่มีเหตุจำเป็นต้องเร่งประมูลพร้อมกันในคราวเดียว จากการศึกษาแผนงานร่วมกันของผู้ประกอบการโทรคมนาคม ชี้ชัดว่ากระบวนการการเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านหากต้องใช้คลื่น 3500MHz ใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงเป็นเหตุผลสมควรที่สามารถเลื่อนแผนการประมูลคลื่น 3500 MHz ออกไปก่อน เพื่อให้ไม่กระทบต่อผู้ชมก่อนสิ้นสุดอายุใบอนุญาตของดิจิทัลทีวีปี 2572
-
กสทช. ควรเร่งวางภูมิทัศน์ของระบบทีวีแห่งชาติ หลังจากสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2572รวมถึงการออกหลักเกณฑ์การประมูลครั้งต่อไปให้แล้วเสร็จ ภายในกลางปี 2568 เพื่อเห็นภาพรวมในอนาคตของอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสำคัญต่อการคงอยู่ของโทรทัศน์แห่งชาติที่ประชาชนสามารถเข้าถึงอย่างสะดวกโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
อนึ่ง ใบอนุญาตของโทรทัศน์ระบบดิจิทัลจะสิ้นสุดอายุลงใน เดือน เมษายน 2572 ท่ามกลางความผันผวนของเทคโนโลยีการรับชม และระหว่างเฝ้ารอความชัดเจนแผนของแม่บทในการดำเนินการโทรทัศน์แห่งชาติ หลังปี 2572 สมาคมฯและผู้ประกอบการได้เคยยื่นหนังสือถึงประธานกสทช. เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของคลื่น 3500 MHZ ที่เป็นหัวใจหลักต่อการรับชมทีวีของคนไทยทั้งประเทศมาแล้ว วันนี้จึงพร้อมใจกันมาแสดงจุดยืนในการรักษาคลื่นความถี่นี้ไว้อีกครั้ง เพื่อไม่ให้ทีวีไทยถึงคราวล่มสลายก่อนกาล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 เม.ย. 68)
Tags: กสทช., ทีวี, ทีวีดิจิทัล