
บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (Huawei Technologies) ยักษ์ใหญ่ของจีน เปิดเผยผลประกอบการปี 2567 โดยมีกำไรสุทธิ 6.26 หมื่นล้านหยวน (8.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลง 28% จากปีก่อนหน้า โดยบริษัทชี้แจงว่า กำไรที่ลดลงเป็นผลมาจากการไม่มีรายได้พิเศษจากการขายสินทรัพย์เหมือนในปี 2566 ประกอบกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่สูงขึ้นมาก
อย่างไรก็ดี รายได้รวมของหัวเว่ยในปี 2567 กลับเติบโตอย่างแข็งแกร่งถึง 22.4% แตะ 8.621 แสนล้านหยวน นับเป็นอัตราการเติบโตรายปีที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี และเป็นการเติบโตต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สะท้อนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังเผชิญความท้าทายอย่างหนักจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
การลดลงของกำไรในปีนี้เนื่องมาจากกำไรในปี 2566 ได้รับปัจจัยหนุนพิเศษจากการบันทึกรายได้จากการขายธุรกิจสมาร์ตโฟนแบรนด์ Honor ในปี 2563 ซึ่งหัวเว่ยตัดสินใจขายออกไปหลังมาตรการคว่ำบาตรจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญ
เมื่อไม่มีรายได้พิเศษก้อนใหญ่เข้ามาในปี 2567 ประกอบกับการทุ่มงบประมาณมหาศาลถึง 1.797 แสนล้านหยวน (คิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของรายได้) ให้กับด้าน R&D จึงส่งผลให้กำไรปรับลดลงสู่ระดับปกติ
สำหรับปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้ มาจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในหลายกลุ่มธุรกิจ โดยกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน ICT ยังคงเป็นแหล่งรายได้หลัก เติบโต 4.9% ทำรายได้ 3.699 แสนล้านหยวน ขณะที่กลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์ (รวมถึงสมาร์ตโฟน) ฟื้นตัวอย่างโดดเด่น ด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้นถึง 38% เป็น 3.39 แสนล้านหยวน
ส่วนที่น่าจับตามองคือ กลุ่มธุรกิจโซลูชันยานยนต์อัจฉริยะ ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจใหม่ที่พัฒนาร่วมกับค่ายรถยนต์ มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด รายได้พุ่งขึ้นกว่า 4.5 เท่า แตะ 2.64 หมื่นล้านหยวน และสามารถทำกำไรได้เป็นครั้งแรก
เมิ่ง หว่านโจว ประธานกรรมการหมุนเวียนและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) กล่าวว่า ผลประกอบการโดยรวมเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ตอกย้ำความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวของบริษัทท่ามกลางความท้าทายภายนอก เธอยังเสริมว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ต่าง ๆ ของหัวเว่ยกลับมาเติบโตอย่างรวดเร็วอีกครั้ง
ผลประกอบการปี 2567 นี้ ทำให้รายได้รวมของหัวเว่ยกลับเข้าใกล้ระดับสูงสุดที่เคยทำไว้ในปี 2563 ก่อนที่มาตรการคว่ำบาตรที่เข้มงวดขึ้นของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบเต็มที่ในปี 2564
ทั้งนี้ หัวเว่ยยังคงเดินหน้าลงทุนอย่างหนักในเทคโนโลยีหลัก อาทิ HarmonyOS, Kunpeng และ Ascend เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและผลักดันเป้าหมายการพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีของจีน ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เทคโนโลยีกับสหรัฐฯ ที่ยังคงดำเนินอยู่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 68)
Tags: Huawei, หัวเว่ย