
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ขณะนี้อาจยังเร็วเกินไปที่จะประเมินตัวเลขผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 เนื่องจากผลกระทบจะส่งผ่านไปยังหลายช่องทาง
โดยผลกระทบทางตรงจะเกิดกับทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักลงไปบ้าง ซึ่งตัวเลขความเสียหายจะทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้น คงต้องรอดูตัวเลขที่ชัดเจนก่อน นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางอ้อมที่จะเกิดกับความเชื่อมั่น ตลอดจนพฤติกรรมต่าง ๆ ของภาคธุรกิจและประชาชนที่อาจเปลี่ยนไป โดยเฉพาะผลต่อภาคการท่องเที่ยว
“ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา จะมีภาพการนำเสนอข่าวแผ่นดินไหว ตึกถล่ม ที่อาจดูรุนแรง ความกังวลของนักท่องเที่ยวอาจจะมีการชะลอ หรือยกเลิกการจองตั๋วเครื่องบิน-ที่พักไปก่อน แต่ต้องติดตามดูว่าเรื่องความเชื่อมั่นจะกลับมาได้เร็วขนาดไหน ซึ่งปกติแล้วผลกระทบแบบนี้จะใช้เวลาไม่นานนัก และจากการคุยล่าสุด ยังไม่เห็นการยกเลิกที่มากขึ้นอย่างผิดปกติ ดังนั้นยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป” นายสักกะภพ ระบุ
อย่างไรก็ดี ธปท.ยอมรับว่าเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะตึกสูง เช่น คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ที่ได้รับผลกระทบจากความกังวลของประชาชน รวมทั้งนักลงทุน ในประเด็นโครงสร้างของอาคาร และความปลอดภัยในการเข้าใช้อาคารต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะของการชะลอการเช่าและการซื้ออาคารสูง
“เราได้คุยกันเยอะว่าภาคอสังหาริมทรัพย์เองเป็นภาคที่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า เป็น K-shape รวมถึงปัญหาที่เราเห็นอยู่ คือ อุปทานคงค้างในส่วนของคอนโดฯ สูงด้วย ซึ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาในภาคนี้อยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อมองไปข้างหน้า ความเชื่อมั่นและตัวมาตรการดูแลความปลอดภัย และโครงสร้างต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามและรอดู Sentiment ว่าจะกลับมาได้ขนาดไหน”นายสักกะภพ ระบุ
ส่วนเหตุแผ่นดินไหวจะทำให้ประสิทธิผลของการผ่อนคลายมาตรการ LTV ในรอบล่าสุดต้องลดน้อยลงไปหรือไม่นั้น นายสักกะภพ ระบุว่า มาตรการผ่อนคลาย LTV ที่ออกไป ไม่ได้คาดหวังว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจมากอยู่แล้ว แต่เป็นเพียงการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ ที่มีปัญหาอุปทานคงค้างในระดับสูง
“ในแง่ของผลกระทบ อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่ามีมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน คือการชะลอการตัดสินใจซื้อคอนโดฯ อาคารสูง แต่ต้องติดตามเรื่องความเชื่อมั่น และความปลอดภัยจะฟื้นตัวได้เร็วขนาดไหน” ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. ระบุ
นอกจากนี้ เหตุแผ่นดินไหวอาจะมีผลให้การบริโภคชะลอตัวลงในระยะสั้น เนื่องจากประชาชนจะนำเงินไปใช้สำหรับการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้ แม้บางส่วนจะมีสภาพคล่องที่ได้รับกลับคืนมาจากการเคลมประกัน รวมทั้งมาตรการจากภาครัฐที่เข้ามาช่วยเหลือก็ตาม
“เรื่องแผ่นดินไหว เป็นผลกระทบระยะสั้น ดังนั้นรายได้ของประชาชนยังไม่ถูกกระทบในวงกว้าง ธุรกิจเองก็ไม่ได้เห็นการหยุดชะงัก ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในแง่รายได้ของประชาชนไม่ได้รับผลกระทบมาก การบริโภคคงได้รับผลกระทบเพียงระยะสั้น และจะฟื้นตัวในระยะต่อไป คงต้องติดตามสถานการณ์อื่น ๆ ที่จะเข้ามามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วย โดยเฉพาะกรณีการขึ้นภาษีของทรัมป์ ซึ่งต้องนำมาประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยต่อไป” นายสักกะภพ ระบุ
ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะมีผลทำให้ต้องใช้การผ่อนคลายนโยบายการเงิน (ลดดอกเบี้ย) ต่อเนื่องหรือไม่นั้น นายสักกะภพ มองว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.พ.68 ที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% นั้น คณะกรรมการฯ ก็ได้ให้น้ำหนักทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เพราะมองว่ามีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ซึ่งเมื่อมีข้อมูลใหม่เพิ่มเข้ามา (เหตุแผ่นดินไหว) ก็จะได้นำไปประมวลในที่ประชุม กนง. ครั้งหน้าที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ในการพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมต่อไป
“จากการประชุม กนง.ครั้งล่าสุด เราก็ให้น้ำหนักเศรษฐกิจอยู่แล้ว จากการที่ลดดอกเบี้ยล่าสุด เพราะมองภาพเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงที่ปรับสูงขึ้นเอาไว้อยู่แล้วระดับหนึ่ง แต่จากที่มีข้อมูลใหม่เข้ามา เราก็จะนำไปประมวล แล้วประชุม กนง.ครั้งต่อไป 30 เม.ย. เพื่อเข้าไปดูในเรื่องดอกเบี้ยอีกที” นายสักกะภพ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 68)
Tags: ธปท., สักกะภพ พันธ์ยานุกูล, เศรษฐกิจไทย