
ผลสำรวจล่าสุดจากสถาบันวิจัยเทโคกุ ดาตาแบงก์ (Teikoku Databank) ซึ่งมีการเผยแพร่ในวันนี้ (31 มี.ค.) ระบุว่า ราคาอาหารและเครื่องดื่มของญี่ปุ่นที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในเดือนเม.ย. มีจำนวนทั้งสิ้น 4,225 รายการ สูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2566 ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
เมื่อพิจารณาเป็นรายประเภทพบว่า เครื่องปรุงรส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมิโซะ มีจำนวนสินค้าที่จะถูกปรับราคาสูงขึ้นมากที่สุด 2,034 รายการ ตามมาด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์จำนวน 1,222 รายการ โดยรวมแล้ว มีราคาสินค้าจำนวน 11,707 รายการที่มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้จนถึงเดือนก.ย.
เจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยเทโคกุ ดาตาแบงก์ ราคาอาหารมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ พยายามผลักภาระด้านต้นทุนการผลิตแก่ผู้บริโภค โดยตลอดทั้งปี 2568 ราคาอาหารอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 รายการ ทำให้ครัวเรือนต้องประหยัดเงินมากขึ้น
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ผลสำรวจดังกล่าว ซึ่งมุ่งเป้าไปที่บริษัทอาหารและเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ 195 แห่ง พบว่า 97.8% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า สาเหตุของการขึ้นราคามาจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ขณะที่ 81.8% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า มาจากด้านโลจิสติกส์ และ 45.1% มาจากค่าจ้างแรงงาน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่นให้คำมั่นว่า จะดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบของเงินเฟ้อที่มีต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่กลับประสบปัญหาในการนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้ เนื่องจากรัฐบาลของเขาไม่ได้มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
ข้อมูลของรัฐบาลระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในปี 2567 เพิ่มขึ้น 2.7% จากปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นปีที่สามติดต่อกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 68)
Tags: ญี่ปุ่น, ราคาอาหาร, เครื่องดื่ม