
ทอม บาร์กิน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์กล่าวเมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) ว่า หากรัฐบาลสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% จริง บริษัทรถยนต์จะต้องตัดสินใจเรื่องยาก ๆ เกี่ยวกับราคาขายและอัตรากำไร แม้เขาเชื่อว่าผู้บริโภคคงไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดก็ตาม
บาร์กินกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เนื่องจากการแข่งขันในตลาดและปัจจัยอื่น ๆ เช่น อัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ภาษี 25% ที่ประกาศออกมาอาจไม่ใช่ตัวเลขที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มเต็ม ๆ แต่บริษัทต่าง ๆ จะต้องเลือกว่า จะผลักภาระไปให้ผู้บริโภค จะยอมลดอัตรากำไรตัวเองลง หรือจะไปหาทางลดต้นทุนส่วนอื่นแทน
บาร์กินยังชี้ว่า ภาษีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อทั้งราคาและตลาดแรงงาน โดยเฉพาะถ้าบริษัทพยายามตรึงราคาไว้ ไม่ขึ้นตามภาษี ด้วยการหันไปปลดพนักงานหรือลดค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ แทน
ความเห็นนี้มีขึ้นหลังจากบาร์กินบรรยายที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน แอนด์ ลี ซึ่งเนื้อหาเน้นเรื่องความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่มาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาลอย่างรวดเร็ว การขึ้นภาษีรถยนต์ที่อาจเกิดขึ้นนี้เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เฟดกำลังจับตาดูผลกระทบต่อเงินเฟ้อ การจ้างงาน และภาพรวมเศรษฐกิจ
บาร์กินกล่าวว่า เขาพร้อมรับฟังข้อโต้แย้งที่ว่าภาษีอาจทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นเพียงครั้งเดียวโดยไม่ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อต่อเนื่อง แต่เขาก็ยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับแนวคิดนี้ โดยบาร์กินระบุว่า สหรัฐฯ เพิ่งผ่านพ้นช่วงเวลาที่เงินเฟ้อสูง ซึ่งหมายความว่า ความคาดหวังด้านราคาได้เปลี่ยนไปทั้งในส่วนของผู้กำหนดราคาและผู้บริโภค
ความเห็นของบาร์กินมีขึ้นหลังจากที่เมื่อสัปดาห์ก่อน เฟดเพิ่งตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 4.25%-4.50% ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบจากนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น ภาษีนำเข้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 68)
Tags: ตลาดแรงงาน, ธนาคารกลางสหรัฐ, ภาษีนำเข้ารถยนต์, รัฐบาลสหรัฐ, ริชมอนด์, เฟด