“พิชัย” เผชิญหน้าม็อบชาวนา ยันเร่งแก้ปัญหาราคาข้าว ชง นบข.เคาะ 26 ก.พ.

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ได้พบหารือกับกลุ่มชาวนาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เดินทางมาชุมนุมที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเรียกร้องการช่วยเหลือราคาข้าว โดยยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาของพี่น้องเกษตรกร และกำลังเร่งหาทางช่วยเหลืออย่างเต็มที่

นายพิชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว และได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลปัญหาราคาข้าว ซึ่งในอดีต รัฐบาลไม่ได้ให้การช่วยเหลือข้าวนาปรัง แต่ขณะนี้รัฐบาลเตรียมมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยจะสนับสนุนราคาข้าวให้เกษตรกรได้รับเงินเพิ่มขึ้นตันละ 1,000 บาท และหากมีการเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางของตนเอง จะได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มเป็นตันละ 1,500 บาท โดยในวันที่ 26 ก.พ.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือ และนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ส่วนอีก 2 มาตรการ จะช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการโรงสี 6% ต้องเก็บสต็อกไว้ 2-6 เดือน เป้าหมาย 2 ล้านตัน และเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือก โดยรัฐสนับสนุนค่าบริหารจัดการ 500 บาท/ตัน เป้าหมาย 3 แสนตัน รวมทั้งจะมีมาตรการเสริมอื่น ๆ เช่น การกระตุ้นการบริโภคข้าว ที่จะร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุง ผลิตข้าวถุงราคาประหยัดขายผ่านห้างโมเดิร์นเทรด การเร่งรัดผลักดันการส่งออกข้าว และการหาตลาดข้าว เช่น การผลักดันให้จีนซื้อข้าวจีทูจีที่ค้างอยู่ 2.8 แสนตัน และการผลักดันส่งออกไปยังแอฟริกาใต้ ซึ่งจะมีการเจรจาในช่วงปลายเดือนมี.ค. นี้

สำหรับเรื่องเงินชดเชยรายได้ หรือการประกันรายได้ตามข้อเรียกร้องของเกษตรกร รมว.พาณิชย์ ยืนยันว่า ทำไม่ได้ เพราะขัดกับมติครม. เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 66 และมตินบข. เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 67 ที่กำหนดว่า ในการจัดทำมาตรการ โครงการ เพื่อสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือภาคเกษตรกร ให้หลีกเลี่ยงการดำเนินการในลักษณะการให้เงินอุดหนุน ช่วยเหลือ ชดเชย หรือประกันราคาสินค้าเกษตรโดยตรงแก่เกษตรกร

ด้านนายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลให้การช่วยเหลือข้าวนาปรังอย่างเป็นรูปธรรม เพราะที่ผ่านมา จะมีมาตรการช่วยเหลือเฉพาะข้าวนาปี โดยมาตรการคือข้าวที่มีความชื้น 15% ราคา 8,500 บาท/ตัน และเมื่อนำไปฝากจะได้ค่าฝากอีก 1,000 บาท รวมเป็น 9,500 บาท/ตัน

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเปิดจุดรับซื้อเพิ่มเติม โดยให้ราคานำตลาดอีก 300 บาท เพื่อลดภาระของชาวนา และมีมาตรการชดเชยดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นให้มีการซื้อข้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ราคาข้าวแห้งขยับขึ้นเป็น 9,500 บาท/ตัน ตามที่ชาวนาเรียกร้อง

ในส่วนของชาวนาที่เกี่ยวข้าวไปแล้ว และกังวลว่าจะไม่ได้รับการชดเชยนั้น กระทรวงพาณิชย์กำลังพิจารณาหาวิธีตรวจสอบ เพื่อเสนอของบประมาณจากกระทรวงการคลัง โดยกระบวนการต้องเป็นไปอย่างรอบคอบและโปร่งใส เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ มาตรการในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (ด้านการตลาด) ไปแล้ว ส่วนข้อเสนอของเกษตรกร เช่น การงดเผาตอซัง-ฟางข้าว และการเยียวยากรณีเป็นพื้นที่รับน้ำ ต้องรอให้คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (ด้านการผลิต) ที่มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบ จะพิจารณาในช่วงเช้าวันที่ 26 ก.พ.นี้

“โดยต้องรอดูว่า จะมีมาตรการแบบไหน อย่างไร ถ้าได้ข้อสรุป ก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุมนบข. ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน และเมื่อ นบข.อนุมัติ ก็จะเสนอ ครม.วันที่ 4 มี.ค. 68 และดำเนินมาตรการทุกมาตรการได้ทันที” อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุ

โดยในวันที่ 26 ก.พ. นี้ จะมีการจัดประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานการประชุม โดยคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (ด้านการตลาด) เตรียมเสนอมาตรการการช่วยเหลือราคาข้าวนาปรังปี 2568 เข้าสู่ที่ประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มชาวนาผู้ปลูกข้าวนาปรังจากหลายจังหวัดของภาคกลาง ได้เดินทางมาที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อทวงถามมาตรการช่วยเหลือราคาข้าวเปลือกนาปรังตกต่ำ โดยไม่เห็นด้วยกับมาตรการที่อนุกรรมการฯ นบข. ด้านการตลาด มีมติออกมา 3 มาตรการ โดยขอให้ประกันราคาข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% ที่ตันละ 11,000 บาท และชดเชยให้กับชาวนาที่เก็บเกี่ยวข้าวไปแล้ว ถ้าไม่ได้รับการพิจารณา จะยกระดับไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.พ. 68)

Tags: , , ,
Back to Top