“อนุสรณ์”แนะไทยหนีบ๊วยอาเซียนต้องปฏิรูปทุกมิติ ลงทุนนวัตกรรม-คน สร้างฐานการเติบโตใหม่

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเคยขยายตัวสูงถึง 11.7% ในช่วงปี พ.ศ. 2530-2533 และในช่วงทศววรษ 2530 ไทยเคยเติบโตทางเศรษฐกิจในบางปีสูงถึง 13.3% ต่อปี การที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยรั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียนหลายปีติดต่อกันและมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยต่ำกว่า 3% มาโดยตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและโครงสร้างประชากร นอกจากนี้สัดส่วนของการลงทุนเทียบกับจีดีพีอยู่ในระดับต่ำ

โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐหรือกิจการที่สัมปทานให้เอกชนดำเนินการก็มักจะมีการทุจริตรั่วไหลและเบี่ยงเบนไปจากหลักวิชาการ ผิดไปจากหลักการของการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ดีและไม่เป็นไปตามหลักการลงทุนเพื่อสาธารณะ เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนเอื้อประโยชน์ในทุกระดับ มีการผ่องถ่ายผลประโยชน์สาธารณะไปเป็นผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม

นโยบายและมาตรการต่างๆมักมีผลประโยชน์ทับซ้อนทุจริตและมีวาระซ่อนเร้นเพื่อผลประโยชน์ของเครือข่า

ยของกลุ่มผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจเสมอจึงไม่มีนโยบายหรือมาตรการใดที่มีประสิทธิผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศให้ดีขึ้น ไม่มีประสิทธิภาพช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตได้เต็มศักยภาพหรือยกระดับศักยภาพให้สูงขึ้น

ระบอบประชาธิปไตยก็ไม่มีเสถียรภาพจากรัฐประหารสองครั้งและความไม่สงบและความรุนแรงทางการเมืองเป็นระยะๆ การเติบโตต่ำจึงกลายเป็น “ภาวะปรกติ” ของเศรษฐกิจไทยตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โอกาสที่ “ไทย” กลับมาสู่การเป็น “แถวหน้า” ของอาเซียนจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่แก้ปัญหาพื้นฐานเหล่านี้เสียก่อน

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่าการจะหนีเติบโตรั้งท้ายอาเซียนต้องเดินหน้าการปฏิรูปประเทศในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคมกฎหมายและระบบสถาบันต่างๆ เพิ่มสัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีให้อยู่ในระดับเดียวกับช่วงทศวรรษ 2530 ลงทุนในนวัตกรรมและทรัพยากรมนุษย์ สร้างฐานการเติบโตและรายได้ใหม่ระยะสั้นต้องผ่อนคลายการเงินและกฎระเบียบเปิดกว้างให้มีการขับเคลื่อนการลงทุนด้านต่างๆอย่างเต็มที่

โดยขจัดอุปสรรคทางกฎระเบียบให้หมดไป แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันติดสินบนให้ลดลงอย่างจริงจัง แนวทางการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนกว่า และ ส่งผลในระยะปานกลางและระยะยาวไม่ก่อให้เกิดการเสพติดนโยบายและมาตรการประชานิยมเกินขนาดและนำมาสู่ปัญหาฐานะทางการคลังในอนาคต ก็คือ การปรับโครงสร้างภาคการผลิต การบริหารจัดการทางด้านอุปทาน ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องทำให้เกิด Breakthrough Competitiveness and Growth with country innovation ต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนทางด้านวิจัยและนวัตกรรมต่อจีดีพีให้สูงขึ้นโดยเฉพาะต้องลงทุนในการศึกษาและวิจัยยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ ผลิตภาพของทุนและแรงงาน

ในส่วนของภาคเกษตรกรรมนั้นต้องแปรรูปพืชผลเกษตรเพิ่มมูลค่าด้วยการลงทุนทางด้านวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลิตผลการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มรายได้ผ่านช่องทางต่างๆ ลดต้นทุนโดยเฉพาะค่าปุ๋ย ค่าอาหารสัตว์ ปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ดินได้มากขึ้น

การใช้มาตรการและนโยบายเหล่านี้จะแก้ปัญหายั่งยืนกว่า ในส่วนของธุรกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือ เอสเอ็มอี ต้องมุ่งที่ การเพิ่มผลิตภาพทุน และ ผลิตภาพแรงงานผ่านการลงทุนทางด้านการพัฒนาทักษะ และ เทคโนโลยี มุ่งสร้างเครื่องหมายการค้า และเอาการตลาดนำการผลิต ขยายตลาดใหม่ ลดต้นทุนด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินกิจการ

ภาครัฐเองก็ต้องลดต้นทุนให้กับเกษตรกรและกิจการเอสเอ็มอีด้วยการมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสมไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการทั้งหลาย ทั้งระบบประปา ระบบบริหารจัดการน้ำและการชลประทาน ระบบไฟฟ้าและพลังงาน ระบบโทรคมนาคม ระบบคมนาคมขนส่งโลจีสติกส์ ระบบการบังคับใช้กฎหมายและระบบใบอนุญาตต่างๆ การติดสินบนทุจริตคอร์รัปชันต้องลดลงอย่างชัดเจน เป็นต้น

นอกจากนี้ภาครัฐควรส่งเสริมให้มีการเปิดเสรีสินค้าเกษตรอย่างมียุทธศาสตร์ ต้องมีแนวทางที่ปกป้องผู้ผลิตภายใน และ

การอุดหนุนราคาโดยไม่ผิดหลักการขององค์การการค้าโลก เพิ่มการแข่งขัน ลดอำนาจผูกขาดในโครงสร้างตลาดและโครงสร้างการผลิตทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ทำให้”เกษตรกร” และ “ผู้ประกอบการขนาดย่อมขนาดเล็ก”มีอำนาจต่อรองมากขึ้นในโครงสร้างระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของไทย

นวัตกรรมของประเทศจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงโดยเฉพาะการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีขณะที่เราไม่สามารถเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมที่สูงยิ่ง การปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายความมั่งคั่งจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกัน การปฏิรูปเศรษฐกิจให้เกิดความเท่าเทียมจึงต้องเกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องทุนโดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่ที่มีลักษณะผูกขาด ให้กลายเป็นทุนที่แข่งขันกันอย่างเสรี

ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการทางภาษีในการแบ่งปันกำไรส่วนเกินมากระจายให้กับสังคมผ่านระบบสวัสดิการหรือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ยากจน

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การลดช่องว่างทางรายได้การแก้ความยากจนและสร้างความเป็นธรรมทางสังคมจำเป็นต้องดำเนินการใน 2 ด้าน คือด้านผู้มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างเหลือล้น – ใช้แนวทางการคลัง การงบประมาณ การภาษี และการป้องกันการผูกขาด ส่วนด้านคนยากไร้ – ผลักดันให้กลุ่มผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสหลุดพ้นจากภาวะขัดสนยากจนด้วยการสร้างโอกาสให้เข้าถึงปัจจัยการผลิตพัฒนาระบบสวัสดิการโดยรัฐอย่างเป็นระบบ จัดให้มีระบบการคุ้มครองทางสังคม (Social protection)และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายสาธารณะ ทิศทางแนวนโยบายด้านสวัสดิการสังคมที่เป็นไปได้ และสามารถดำเนินการได้ทันทีคือ การสร้าง”สังคมสวัสดิการ (Welfare Society)” ขึ้นโดยผนึกกำลังจากภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมสร้างสรรค์สวัสดิการสังคมขึ้นในหลายรูปแบบ มีการจัดการโดยหลายสถาบันและสร้างความร่วมมือจากหลายฝ่ายให้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตสวัสดิการอย่างกว้างขวางครอบคลุมโดยแต่ละรูปแบบและแต่ละสถาบันมีความเป็นอิสระต่อกันภายใต้ความรับผิดชอบและการดูแลของสังคมโดยรวม

ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความมั่งคั่งของไทยจึงยังคงอยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจากการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุด พบว่า ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโควิด 19 ปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นและเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบไม่เท่าเทียมเป็นรูปตัว K และความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้กลุ่มรวยสุด 10% แรกกับกลุ่มรายได้ต่ำสุด 10% ล่าง ต่างกันมากกว่า 20 เท่า กลุ่มคนรวยสุดร้อยละ 10 ถือครองรายได้รวมมากกว่า 35% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ

แนวคิดและนโยบายแบบประชานิยมเฟื่องฟูขึ้นท่ามกลางความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ “ประชานิยม”บรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้แก้โครงสร้าง และ ยังทำให้ “ประชาชนส่วนใหญ่” “นักการเมือง” และ “ข้ารัฐการ” ไม่ตระหนักและละเลยปัญหาในเชิงโครงสร้างอีกด้วย ขณะเดียวกันรูปแบบวิธีการทางการเมืองแบบประชานิยมที่เกิดขึ้นในยุโรป สหรัฐอเมริกา ละตินอเมริกา และเอเชียบางประเทศ จะก่อความขัดแย้งและทำให้ระบอบเสรีประชาธิปไตยอ่อนแอลง แปรสภาพเป็นระบอบอำนาจนิยมจากการเลือกตั้งมากขึ้นตามลำดับ

“วิธีการทางการเมืองแบบประชานิยมมุ่งสร้างคู่ตรงข้ามในเชิงศีลธรรมระหว่าง “ประชาชน” และ”ชนชั้นนำผู้ฉ้อฉล” เพื่อระดมการสนับสนุนจากมวลชนให้ชนะเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามจากการศึกษาในหลายประเทศที่มีนโยบายประชานิยม พบว่า ต้องอาศัยผู้นำที่มีบารมี (Charismatic Leadership) อาศัยระบบอุปถัมภ์ (Clientelism) มีปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงและในหลายกรณีประชานิยมอาจไม่ได้นำมาสู่การบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำ นโยบายกระจายการจัดสรรทรัพยากร การกระจายรายได้กระจายความมั่งคั่ง ความสำเร็จของการลดความเหลื่อมล้ำเป็นผลจากการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมมากกว่า”

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า กรณีของไทย มาตรการประชานิยมพักหนี้ แจกเงิน อาจไม่ได้ช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตแบบยั่งยืน เพียงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ บรรเทาปัญหาวิกฤติหนี้สิน ประเทศไทยจึงมีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับสองในเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ และอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก ขณะเดียวกันคนไทยมีหนี้สาธารณะที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบเฉลี่ยท่านละไม่ต่ำกว่า 1.7-1.8 แสนบาท รัฐบาลทำขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมอีกในปีงบประมาณ 68 และ 69 ชาวไทยแต่ละท่านมีภาระหนี้สินส่วนครัวเรือนรวมหนี้สาธารณะมากกว่า 4.2 แสนบาท

ฉะนั้นการตั้งเป้าให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพที่ 5-6% เป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้เศรษฐกิจมีรายได้สูงขึ้นและ ต้องสร้างกลไกให้เกิดการกระจายรายได้มายังคนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึง คือต้องปฏิรูปโครงสร้างการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง การพักหนี้ เจรจาประนอมหนี้หรือ ลดดอกเบี้ยเป็นเพียงแค่บรรเทาแต่ไม่ได้แก้ปัญหาในระยะยาว ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจต้องแก้ด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจ มาตรการประชานิยมช่วยได้แค่บรรเทาปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น

การดำเนินการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นระบบต้องมีการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อและการปฏิบัติกับลูกหนี้อย่างเป็นธรรม (Responsible Lending) ครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ของลูกหนี้

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่าชุดของนโยบายประชานิยมมักเชื่อมโยงกับการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำเสมอ และมีองค์ประกอบสำคัญสองประการ คือ หนึ่ง มองเจตจำนงประชาชนเหนือกว่าหลักการด้านอื่นๆ สองเจตจำนงของประชาชนควรสะท้อนผ่านความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างประชาชนกับผู้นำทางการเมือง การพักหนี้ การแจกเงิน การขึ้นค่าแรงโดยยึดกรอบการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดี ระมัดระวังในเรื่องวินัยการเงินการคลัง ย่อมไม่นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค วิกฤติหนี้สาธารณะ อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง เหมือนประชานิยมในละตินอเมริกาในยุคฮวน เปรองแห่งอาร์เจนตินา ค.ศ. 1946-1955 หรือ อัลแบร์โต ฟูจิโมริแห่งเปรู ค.ศ. 1990-2000 บรรเทาปัญหาหนี้สินและลดความเหลื่อมล้ำได้บ้าง วิกฤติหนี้สิน และ ความเหลื่อมล้ำรุนแรง จะกลายเป็น”ระเบิดเวลา” ที่จะนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมในอนาคตของไทยได้

การบรรเทาปัญหาด้วยมาตรการระยะสั้นย่อมมีความจำเป็นไม่ต่างจากการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างด้วยมาตรการระยะยาว ความเหลื่อมล้ำไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำในโอกาส (Inequality of Opportunity) หรือความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ (Inequality of Outcome) ก็ตามจะกดดันให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงในระยะปานกลางและระยะยาวศักยภาพและประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจถดถอยลงเป็นผลลบต่อเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยและความมั่นคงทางการเมืองและสังคม

หากพรรคการเมืองใดต้องการวางเป้าหมายต้องการให้ประเทศไทยมีระบบรัฐสวัสดิการแบบยุโรปเหนือย่อมทำได้แต่เป็นเรื่องที่อาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้และไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน ประเทศรัฐสวัสดิการมักเป็นประเทศที่มีระบบราชการหรือระบบรัฐการที่ใหญ่ Bigger Government ไม่ใช่ Smaller Government ประเทศรัฐสวัสดิการต้องมีระบบราชการและระบบการเมืองที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นรัฐสวัสดิการที่ล้มเหลวหรือประสบปัญหาความยั่งยืนทางการเงินการคลัง เกิดวิกฤติทางการคลัง นำไปสู่การลดขนาดของระบบราชการและลดสวัสดิการของรัฐในที่สุด

ปรากฎการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในบางประเทศในยุโรปใต้และฝรั่งเศสการเดินหน้าระบบรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบในไทย เรื่องแรกที่ต้องตอบให้ได้ คือระบบราชการไทยเป็นอย่างไร กรณีไทย ต้องปรับเปลี่ยนระบบราชการให้โปร่งใสมีประสิทธิภาพก่อน คือต้องปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่พร้อมกับการกระจายอำนาจการจัดระบบสวัสดิการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องที่สอง คือ ต้องปฏิรูปรายได้ภาครัฐและเพิ่มภาษีประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่เป็นประเทศรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบจะมีสัดส่วนรายได้ภาษีอยู่ที่ระดับ 42-48.9%

ของจีดีพี อย่างเดนมาร์ก มีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีอยู่ที่ 48.9% สวีเดนอยู่ที่ 48.2% โดยประเทศพัฒนาในOECD มีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีเฉลี่ยอยู่ที่ 35% สหรัฐอเมริกาที่ใช้แนวคิดปัจเจกนิยมเสรี (Liberal Individualism) กับ แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democracy) ผสมกันในจัดระบบสวัสดิการโดยรัฐขึ้นอยู่กับว่า พรรคแดโมแครต หรือ พรรครีพับรีกัน พรรคไหนเป็นรัฐบาล
มีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีเฉลี่ยอยู่ที่ 28-30% ส่วนไทยมีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีเพียงแค่ 14% เท่านั้นจึงยังห่างไกลต่อการมีฐานะทางการคลังที่สามารถสนับสนุนรัฐสวัสดิการแบบเต็มรูปแบบอย่างสแกนดิเนเวียได้

ประเทศไทยเคยมีสัดส่วนการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ระดับ 18% ในปี พ.ศ. 2539 ก่อนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 40 การจัดเก็บภาษีเพิ่มด้วยการเพิ่มอัตราภาษีในระยะหนึ่งถึงสองปีข้างหน้าอาจไม่เหมาะสมเนื่องจากเศรษฐกิจไทยเพิ่งอยู่ในระยะแรกของการฟื้นตัว

ต้องดำเนินมาตรการให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นมากๆเต็มศักยภาพเพื่อเก็บภาษีได้เพิ่มโดยไม่ต้องเพิ่มอัตราภาษี ส่วนการขยายฐานภาษีนั้นควรเดินหน้าจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ส่วนการจะก่อหนี้มาเพื่อจ่ายสวัสดิการสังคมเพิ่มควรต้องทำอย่างระมัดระวังเนื่องจากขณะนี้ยอดหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมดเทียบกับจีดีพีขยับเข้าใกล้ 70% ตามลำดับ

กองทุนประกันสังคมถูกออกแบบไว้อย่างดีเพื่อให้เกิดการจ่ายสมทบแบบมีส่วนร่วมจากสามฝ่ายลูกจ้าง นายจ้างและรัฐบาล จึงเป็น “กองทุน” ของสาธารณชนโดยโครงสร้างเงินสมทบ และทำให้ประชาชนมีวัฒนธรรมการออมที่เข้มแข็งอีกด้วย

กองทุนประกันสังคม เป็น เสาหลักของระบบสวัสดิการสำหรับผู้ใช้แรงงาน การบริหารกองทุนให้มีประสิทธิภาพ มีความคล่องตัว โปร่งใส มีธรรมาภิบาลสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน เสถียรภาพของผู้ประกอบการ และความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของรัฐ การปฏิรูปประกันสังคมสู่องค์กรของรัฐที่ไม่ใช่ราชการ เป็นองค์กรที่บริหารงานได้แบบแบงก์ชาติ กลต หรือ กบข ควรถูกนำมาศึกษาพิจารณาอีกครั้งหนึ่งการพัฒนา “กองทุนประกันสังคม” ให้เป็น “องค์กรของรัฐ”ที่ไม่ใช่ส่วนราชการอาจจำเป็นสำหรับอนาคตของสังคมไทย

รัฐบาลต้องมอบความเป็นอิสระให้กับผู้เชี่ยวชาญทางด้านประกันสังคมในการบริหารกองทุนประกันสังคมและปกป้องจากการแทรกแซงของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองเพื่อให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพต่อกองทุน และเปิดให้มีส่วนร่วมจากผู้แทนผู้ประกันตนและนายจ้างที่มาจากการเลือกตั้งในการกำกับดูแลนโยบายได้อย่างเหมาะสม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.พ. 68)

Tags: ,
Back to Top