หุ้นกลุ่มแบงก์ปรับลง รับ Sell on Fact-กนง.เจอแรงกดดันรอบด้านให้ลดดอกเบี้ย

หุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวลงเป็นส่วนใหญ่ นำโดย BBL ปรับลง 4.02% หรือลดลง 6.50 บาท มาอยู่ที่ 155.00 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 2,745.83 ล้านบาท

KBANK ปรับลง 2.44% หรือลดลง 2.44 บาท มาอยู่ที่ 160.00 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1,617.13 ล้านบาท

KTB ปรับลง 1.23% หรือลดลง 0.30 บาท มาอยู่ที่ 24.10 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1,775.58 ล้านบาท

SCB ปรับลง 0.78% หรือลดลง 1.00 บาท มาอยู่ที่ 126.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1,000.76 ล้านบาท

TTB ปรับลง 0.51% หรือลดลง 0.01 บาท มาอยู่ที่ 1.97 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 487.88 ล้านบาท

BAY ปรับลง 0.42% หรือลดลง 0.10 บาท มาอยู่ที่ 23.60 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.38 ล้านบาท

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า หุ้นกลุ่มแบงก์ในวันนี้ที่ปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งมองว่ามาจากแรงขาย sell on fact หลังจากรับทราบปัจจัยของการจ่ายเงินปันผลที่ออกมา ซึ่งหลาย ๆ แบงก์แจ้งอัตราการจ่ายเงินปันผลสูงกว่าคาด อาทิ BBL, KTB, SCB และ TTB หลังจากขึ้นรับข่าวไปแล้วก็มีแรงขายออกมา แต่ก็ยังมีบางแบงก์ที่ยังไม่แจ้งการจ่ายเงินปันผลเช่น TISCO บวกสวนกลุ่มได้เล็กน้อย

นอกจากนั้น ยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากคาดการณ์การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในสัปดาห์หน้าที่อาจจะเริ่มเห็นการส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ย มติ กนง.อาจเริ่มเห็นเสียงแตกไปทางลดดอกเบี้ยมากขึ้นจากรอบก่อนหน้าในเดือนธ.ค.ที่มติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ย เนื่องจากรายงาน GDP ไตรมาส 4/67 ออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้โอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยอย่างเร็วคาดว่าจะเป็นการประชุม กนง.ในเดือนมี.ค.นี้ เป็นปัจจัยที่กดดันกลุ่มแบงก์จากทิศทางดอกเบี้ยขาลง

และล่าสุด IMF ระบุในแถลงการณ์ว่าเห็นด้วยกับการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนต.ค. 67 และแนะนำให้พิจารณาปรับลดเพิ่มเติม เนื่องจากหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงแตะระดับ 4.86 แสนล้านดอลลาร์ จากราว 4 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงต้นปี 62

ข้อเสนอดังกล่าวของ IMF สอดคล้องกับของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย ที่เรียกร้องให้ธปท.ลดดอกเบี้ย หลังเศรษฐกิจปี 67 ขยายตัวเพียง 2.5% ต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ โดย กนง.มีกำหนดประชุมพิจารณาอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 26 ก.พ.นี้

“ด้วยความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง ทางการควรพร้อมปรับจุดยืนนโยบายการเงิน โดยพิจารณาจากข้อมูลและทิศทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ” IMF ระบุ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 68)

Tags: , , , , ,
Back to Top