
ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ในวันนี้ (21 ก.พ.) โดยจีนได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นครั้งแรก
ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นและจีนได้ตกลงกันว่า จีนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์น้ำที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ ภายใต้กรอบการทำงานของ IAEA ซึ่งความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทำให้จีนกลับมานำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นอีกครั้ง
นอกเหนือจาก IAEA แล้ว นักวิเคราะห์จากจีน เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ยังมีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน โดยในวันนี้ได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำจากถังเก็บน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว ก่อนที่จะถูกเจือจางด้วยน้ำทะเล
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า แกนในเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เกิดการหลอมละลายจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่เมื่อเดือนมี.ค. 2554 และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้เริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลในเดือนส.ค. 2566 ซึ่งก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากจีน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 68)
Tags: IAEA, จีน, ญี่ปุ่น, ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ, น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี, โรงไฟฟ้านิวเคลียร์, โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ