
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น [SAMART] กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่าปีนี้เป้ารายได้ที่ 13,500 ล้านบาท และผลกำไรจะเป็นที่น่าพึงพอใจ ทั้งสายธุรกิจ Digital ICT Solution ที่ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 6,500 ล้านบาท ด้วยโอกาสจากหลายโครงการที่เลื่อนมาจากปีที่แล้ว และโครงการใหม่จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ สายธุรกิจ Utilities & Transportations ที่ตั้งเป้ารายได้ที่ 6,000 ล้านบาท โดยเฉพาะ SAV ผู้ให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาภายใต้ CATS ปีนี้จะมีโอกาสเติบโตจากการเปิดสนามบินนานาชาติพนมเปญแห่งใหม่ ส่วนบริษัทเทด้าและทรานเส็ค นอกจากการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ยังมีแผนรุกให้บริการ upgrade สถานีไฟฟ้าแบบเดิมให้เป็น Digital Substation
“เราหวังว่าธุรกิจใหม่ของเราในปีนี้จะเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำให้กับกลุ่มสามารถต่อไป” นายวัฒน์ชัย กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มสามารถ แม้ในปีที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศจะชะลอตัว แต่ผลการดำเนินงานของเรายังอยู่ในระดับที่ดี โดยไตรมาส 4/67 มีรายได้ 3,602 ล้านบาท กำไร 171 ล้านบาท
รวมทั้งปี 67 บริษัทมีรายได้ทั้งสิ้น 10,157 ล้านบาท ลดลง 140 ล้านบาท โดยรายได้จากการขายงานตามสัญญา และรายได้จากการบริการรวม 10,042 ล้านบาท ลดลง 97 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากปีนี้ธุรกิจบริการโครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิตอล (Digital Trunked Radio System) ของสายธุรกิจ Digital Communications ไม่ได้มีการส่งมอบและติดตั้งเพิ่มเติมสำหรับโครงการจัดหาระบบวิทยุสื่อสารข่ายบังคับบัญชากระทรวงมหาดไทย (MOI) ดังเช่นในปี 66 จึงส่งผลให้รายได้ลดลง 1,621 ล้านบาท
ขณะเดียวกันก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจากหลายโครงการ ทั้งสายธุรกิจ Utilities and Transportations จากธุรกิจก่อสร้างโครงการสายส่งสถานีไฟฟ้าแรงสูงแบบครบวงจร มีรายได้เพิ่มขึ้น 893 ล้านบาท ธุรกิจด้านการให้บริการจัดการการจราจรทางอากาศที่ประเทศกัมพูชา มีรายได้เพิ่มขึ้น 111 ล้านบาท และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการเก็บภาษีสรรพสามิต มีรายได้เพิ่มขึ้น 73 ล้านบาท ประกอบกับสายธุรกิจ Digital Communications มีรายได้จากค่าบริการ Airtime เพิ่มขึ้น 292 ล้านบาท และรายได้จากสายธุรกิจ Digital ICT Solution มีรายได้เพิ่มขึ้น 181 ล้านบาท
ขณะที่ในปี 67 บริษัทมีกำไรสุทธิ 133 ล้านบาท ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 390 ล้านบาท ทั้งนี้หากไม่รวมการรับรู้ผลขาดทุนจากการประมาณการหนี้สินระยะยาวจากกรณีข้อพิพาทกับคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 และการกีฬาแห่งประเทศไทย จำนวน 286 ล้านบาท บริษัทจะมีกำไรถึง 420 ล้านบาท
สายธุรกิจ Digital ICT Solution นำโดย บมจ.สามารถเทลคอม [SAMTEL] มีรายได้จากการขาย งานตามสัญญาและบริการ รวม 4,097 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 181 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อนหน้า โดยหลักมาจากรายได้ค่าบริการ และค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 มีการเซ็นสัญญาในโครงการใหม่ รวมมูลค่าโครงการ 4,784 ล้านบาท และมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ณ สิ้นปี 67 รวม 4,361 ล้านบาท
สายธุรกิจ Utilities and Transportations มีรายได้จากการขาย งานตามสัญญาและบริการ รวม 5,425 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,057 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็น 24% จากปีก่อนหน้า โดยมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจก่อสร้างโครงการสายส่งสถานีไฟฟ้าแรงสูงแบบครบวงจรภายใต้ บริษัท เทด้า จำกัด มีรายได้เพิ่มขึ้น 893 ล้านบาท และธุรกิจการจัดการจราจรทางอากาศ ในเขตน่านฟ้าประเทศกัมพูชา ของบมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ [SAV] มีรายได้เพิ่มขึ้น 111 ล้านบาท โดยในปี 67 จำนวนเที่ยวบินที่บริหารจัดการโดยส่วนธุรกิจการจัดการจราจรทางอากาศ มีจำนวนรวม 103,887 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 11,202 เที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อนหน้า โดยมี Backlog ณ สิ้นปี 67 รวม 8,000 ล้านบาท
สายธุรกิจ Digital Communications นำโดย บมจ.สามารถดิจิตอล มีรายได้จากการขาย งานตามสัญญา และบริการ รวม 515 ล้านบาท ลดลง 1,336 ล้านบาท หรือลดลงคิดเป็น 72% จากปีก่อนหน้า โดยหลักมาจากรายได้จากงานตามสัญญาลดลง จำนวน 1,621 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2567 บริการโครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิตอล หรือ Digital Trunked Radio System ไม่ได้มีการส่งมอบและติดตั้งเพิ่มเติมสำหรับโครงการจัดหาระบบวิทยุสื่อสารข่ายบังคับบัญชากระทรวงมหาดไทย (MOI) ดังเช่นในปี 2566 ในขณะที่มีรายได้จากค่าบริการ Airtime เพิ่มขึ้น 292 ล้านบาท โดยมี Backlog ณ สิ้นปี 67 รวม 923 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 68)
Tags: Digital ICT Solution, SAMART, วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์, สามารถ คอร์ปอเรชั่น