CKP ปี67 กวาดรายได้ 10,789 ลบ.EBITDA โตแกร่ง มั่นใจปี 68 โตต่อเนื่องตามอิทธิพลลานีญา

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ [CKP] เปิดเผยว่า ในปี 2567 CKPower มีรายได้รวม 10,789 ล้านบาท มีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงิน ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 5,554 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.0% จากปีก่อน สะท้อนความมั่นคงของกระแสเงินสดของบริษัท แม้จะเผชิญกับวิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ผันผวนและอยู่ในระดับสูง ด้านกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท อยู่ที่ 1,345 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.0 สาเหตุหลักมาจากส่วนแบ่งกำไรสุทธิจากบริษัทร่วมลดลง และต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ หลวงพระบางซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ EBITDA ของบริษัทเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง คือ รายได้จากการขายไฟฟ้าของ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด (NN2) ที่เพิ่มขึ้น 25.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำในช่วงต้นปี 2567 และปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในระหว่างปี 2567 ที่มากกว่าปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากปรากฎการณ์ลานีญา (La Niña) ที่ทำให้ NN2 สามารถประกาศความพร้อมจ่ายไฟฟ้าได้มากขึ้น โดยในปี 2567 NN2 สามารถทำกำไรสุทธิได้สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า คาดว่าในครึ่งปีแรกของปี 2568 แม้จะเป็นช่วงฤดูแล้ง แต่แนวโน้มผลการดำเนินงานคาดว่าจะดีกว่าปี 2567 จากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 สูงกว่าปีก่อน ทำให้ NN2 สามารถประกาศความพร้อมจ่ายไฟฟ้าเดือนมกราคมได้มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 5% สอดรับกับทิศทางของปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ซึ่งในเดือนมกราคม ปี 2568 มีปริมาณสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนจากอิทธิพลของปรากฎการณ์ลานีญาที่ยังคงมีอิทธิพลต่อเนื่องมาในปี 2568 โดย XPCL สามารถขายไฟฟ้าในเดือนมกราคมได้มากกว่าปีก่อนประมาณร้อยละ 23

อีกทั้ง โครงการไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ สำหรับผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ [BEM] ในระยะแรกจำนวน 3 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 7.0 MW ก็มีความคืบหน้าการก่อสร้างในระยะแรก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ 65% ซึ่งเป็นไปตามแผน โดยเริ่มผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้แล้ว 1 โครงการเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2567 และจะทยอยแล้วเสร็จครบทุกโครงการในช่วงไตรมาส 2/68 นับเป็นก้าวสำคัญสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนในระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของไทย

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทมีอัตราส่วนสภาพคล่องอยู่ที่ 1.86 เท่า เพิ่มขึ้น 0.18 เท่าจากปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.52 เท่า สะท้อนถึงความสามารถในการบริหารสภาพคล่องอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯและไทย ประกอบกับการไถ่ถอนหุ้นกู้มูลค่า 1,400 ล้านบาทของ NN2 ในปีที่ผ่านมาช่วยลดภาระทางการเงินไปได้อีกพอสมควร ทั้งนี้บริษัทจะยังคงติดตามการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยและบริหารจัดการหนี้สินระยะยาวให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 68)

Tags: , , ,
Back to Top