PTT เผยกำไรปี 67 หด 19.6% EBITDA วูบ 7.2% จากผลงานกลุ่มธุรกิจปิโตรฯ-การกลั่นกดดัน

บมจ.ปตท. [PTT] รายงานว่า ในปี 67 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 90,072 ล้านบาท ลดลง 21,952 ล้านบาท หรือ 19.6% จากปี 66 ที่มีกำไร 112,024 ล้านบาท โดยหลักจาก EBITDA ที่ลดลง ประกอบกับค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลง อีกทั้ง มีการรับรู้รายการ Non-recurring Items สุทธิภาษีตามสัดส่วนของ ปตท. เป็นขาดทุนประมาณ 4,500 ล้านบาท โดยหลักจากการด้อยค่าและ ประมาณการค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตของกลุ่มบริษัท Vencorex และ PTTAC ของ GC ประมาณ 10,500 ล้านบาท ขณะที่ในปี 66 มีการรับรู้รายการ Non-recurring Items สุทธิภาษีตามสัดส่วนของ ปตท. เป็นกำไรประมาณ 300 ล้านบาท โดยหลักจากการขายสัดส่วนการลงทุนในโครงการ Cash-Maple ของ PTTEP

ในปี 67 ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายจำนวน 3,090,453 ล้านบาท ลดลงจากปี 66 จำนวน 54,431 ล้านบาท หรือลดลง 1.7% โดยกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศมีรายได้จากการขายลดลงจากราคาขายผลิตภัณฑ์ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันที่อ้างอิง แม้ว่าปริมาณขายเพิ่มขึ้น โดยหลักจากปริมาณการค้าน้ำมันสำเร็จรูปและ LNG ระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีรายได้จากการขายลดลง โดยหลักจากธุรกิจจัดหาและค้าส่งก๊าซฯ จากราคาขายเฉลี่ยปรับลดลงตามราคา Pool Gas รวมทั้งปริมาณขายก๊าซฯ เฉลี่ยที่ลดลง

ขณะที่ธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจากปริมาณขายและราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจระบบท่อส่งก๊าซฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น ตามปริมาณการจองใช้ท่อฯ ของลูกค้าโรงแยกก๊าซฯ และโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น กลุ่มธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีกมีรายได้จากการขายลดลงจากทั้งราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น จากปริมาณขายเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาขายเฉลี่ยปรับลดลง

ในปี 67 ปตท. และบริษัทย่อยมี EBITDA จำนวน 396,234 ล้านบาท ลดลง 30,661 ล้านบาท หรือ 7.2% จากปี 66 ที่จำนวน 426,895 ล้านบาท โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น โดยธุรกิจการกลั่นมีผลการดำเนินงาน ลดลง จาก Market GRM ที่ลดลง ประกอบกับมีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันสุทธิกับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น ในปี 67 ปตท.และบริษัทย่อยมีผลขาดทุนประมาณ 13,000 ล้านบาท ขณะที่ในปี 66 ขาดทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจปิโตรเคมีมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบและปริมาณขายที่ปรับตัวสูงขึ้น กลุ่มธุรกิจก๊าซฯ มีผลการดำเนินงานลดลงจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ จากต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการเริ่มใช้นโยบาย Single Pool แม้ว่าราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายปรับเพิ่มขึ้น

ขณะที่ธุรกิจจัดหาและค้าส่งก๊าซฯ รวมถึงธุรกิจ NGV มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น จากต้นทุนค่าเนื้อก๊าซฯ ปรับลดลงตามราคา Pool Gas รวมทั้งธุรกิจระบบท่อส่งก๊าซฯ มีผลการดำเนนงานเพิ่มขึ้นเช่นกันจากปริมาณ การจองใช้ท่อส่งก๊าซฯ ที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของลูกค้า กลุ่มธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีกมีผลการดำเนินงานลดลงจากกำไร ขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรและปริมาณขายเฉลี่ยที่ลดลงโดยหลักจากน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นตามที่กล่าวข้างต้น แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เพิ่มขึ้นเนื่องจากค่าใช้จ่ายจากกิจกรรมซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้น

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ความคืบหน้าระบบท่อส่งก๊าซฯ เส้นที่ 5 จากระยองไปไทรน้อย – โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ/ใต้ ณ เดือนธันวาคม 2567 แล้วเสร็จ 99.11% วมการก่อสร้างทั้ง 3 ส่วน) ความคืบหน้าระบบท่อส่งก๊าซฯ บางปะกงไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ณ เดือนธันวาคม 2567 แล้วเสร็จ 65.46%

โครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 (GSP#7) ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ความคืบหน้าโครงการก่อสร้าง ณ เดือนธ.ค. 67 แล้วเสร็จ 93.12% ขณะที่โครงการ LNG Receiving Terminal 3 บริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด เป็นผู้ดำนินการถมทะเลโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) มูลค่าการลงทุนร่วมกันในส่วนของการ ถมทะเลประมาณ 12,900 ล้านบาท และสิทธิในการก่อสร้าง LNG Terminal 3 ช่วงที่ 1 ขนาดไม่ต่ำ 5 ล้านตัน เป็นเงินลงทุน ประมาณ 28,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะพร้อมเปิดดำเนิการประมาณปี 2571

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 68)

Tags: , ,
Back to Top