
ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกปี 67 มีมูลค่าราว 4.12 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.8% ต่ำกว่าที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ที่ 4.0% เล็กน้อย หลักๆ เป็นผลมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ฟื้นตัวช้า และผลของเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงในหลายพื้นที่ ทำให้ได้รับความเสียหายและผู้บริโภคอาจมีการใช้จ่ายอย่างประหยัด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่า ยอดขายค้าปลีกปี 68 จะขยายตัว 3.0% ชะลอลงจากปีก่อน และต่ำสุดในรอบ 4 ปี หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 4.25 ล้านล้านบาท จากหลายปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูง และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่องในฝั่งผู้ประกอบการ ทั้งกับคู่แข่งในประเทศและต่างประเทศผ่านสินค้านำเข้า
ขณะที่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt (E-Tax) หรือการแจกเงินเฟส 3 (Digital Wallet) ช่วยกระตุ้นยอดขายของค้าปลีกให้เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมไม่มาก โดยกลุ่มค้าปลีก Modern Trade น่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการฯ ดังกล่าว และส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาหารและของใช้ส่วนตัวที่เป็นสินค้าจำเป็น รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องมือสื่อสาร ที่ผู้บริโภคมีแผนที่จะซื้อ/เปลี่ยนรุ่นใหม่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดขาย Modern Trade ในปี 2568 โต 4.8% สูงกว่าการเติบโตของตลาดค้าปลีกในภาพรวม แต่รายได้ของผู้ประกอบการแต่ละ Segment จะฟื้นตัวต่างกัน โดยกลุ่มที่ดีขึ้นกว่าช่วงโควิด: ร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.พ. 68)
Tags: Kresearch, ธุรกิจค้าปลีก, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย