
นางสาวณภัทร โมรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ้าสัว ฟู้ด อินดัสทรี (CHAO) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเดินหน้าสร้างการเติบโต โดยในช่วงปี 68-70 คาดหวังรายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 12-15% วางเป้าหมายผลักดันรายได้ทะลุ 2,200 ล้านบาทภายในปี 70 ควบคู่กับการรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้เป็นตัวเลข 2 หลัก จากไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 36.4%
จากนั้นมีเป้าหมายผลักดันรายได้ใน่ช่วงปี 71-73 เติบโตเฉลี่ยปีละ 12-15% แต่อัตรากำไรขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนรายได้จากการส่งออกจะปรับขึ้นเป็น 35% จากปี 67 อยู่ที่ 25% ส่วนในประเทศจะปรับลงมา 65% จาก 75% ซึ่งยอดขายจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติมีสัดส่วน 5-8% โดยจะยกระดับเบรนด์”เจ้าสัว”เป็น International Brand
ในปีที่ผ่านมา สินค้าของบริษัทยังเติบโตต่อเนื่องหลังจากสามารถตอบโจทย์กลุ่มรักสุขภาพได้ โดย “เจ้าสัว” มีส่วนแบ่งทางการตลาดข้าวตังเป็นอันดับหนึ่งที่ 79% และ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ (Meat Snack) ครองส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับหนึ่งที่ 62% โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา “เจ้าสัว” มียอดขายโตต่อเนื่องเฉลี่ย 12% ต่อปี ที่ทุกช่องทางการจัดจำหน่ายเติบโตทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงส่งออก
นางสาวณภัทร กล่าวว่า ในปี 68 บริษัทวาง 4 กลยุทธ์สร้างการเติบโต คือ 1.สร้างแบรนด์ให้เป็น Top of Mind ผ่านการปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัยและน่าสนใจ ตอกย้ำเอกลักษณ์ของแบรนด์ พร้อมสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านแคมเปญการตลาดที่แข็งแกร่ง ผสมผสานสื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์อย่างลงตัว สร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำให้กับผู้บริโภค รวมทั้งสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ “เจ้าสัว” ในตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยบริษัทยังใส่งบการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ต่อเนื่อง
2. สร้างนวัตกรรมและความหลากหลายด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ (NPD’s) ไม่ต่ำกว่า 15-20 SKUs อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อีกทั้งยังมีแผนขยายไปสู่ตลาดขนมเพื่อสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพที่กำลังมาแรง นอกจากนี้ บริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าสู่หมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง โดยในครึ่งแรกของปีนี้จะมีสินค้าใหม่ 10 sku ที่มีทั่งในกลุ่มขนมขบเคี้ยว และ Meat snack
3. เสริมความแข็งแกร่งในการจัดจำหน่าย บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางค้าปลีกทั้งแบบดั้งเดิม (Traditional Trade: TT) และค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade: MT) ควบคู่ไปกับการเสริมความแข็งแกร่งให้กับช่องทางออนไลน์ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงการขยายไปยังช่องทางจัดจำหน่ายใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม ทั้งนี้ บริษัทมีช่องทางขายผ่าน Modern Trade 40% Traditional Trade 24% ซึ่งบริษัทเริ่มขยายกลุ่มนี้มากขึ้นตั้งแต่กลางปี 67 และยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้อีก ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศมีอยู่ 3 แสนร้าน แต่บริษัทเข้าถึง 3 หมื่นร้าน ซึ่งปีนี้จะเน้นกระจายการขายช่องทางนี้มากขึ้น ส่วนช่องทางออนไลน์ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 8% จากเดิม 2-3%
สำหรับตลาดต่างประเทศ บริษัทฯจะเดินหน้านำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กลุ่มลูกค้าเดิม ควบคู่กับการขยายไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ โดยโฟกัส 3 กลุ่ม ได้แก่.1) สหรัฐอเมริกาและแคนาดา บริษัทได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ขึ้นใหม่ เพื่อดูแลการขายในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาโดยเฉพาะ กลยุทธ์หลักคือการนำเสนอผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของตนเองเข้าสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตเอเชีย ก่อนที่จะขยายไปยังช่องทางอื่นๆ พร้อมทั้งเพิ่มการออกงานแสดงสินค้า (Fair) ต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้และขยายฐานลูกค้า
2) ประเทศจีน บริษัทฯ มุ่งเน้นการเพิ่มจำนวนลูกค้า ทั้งในกลุ่มผู้จัดจำหน่าย (Distributor) และผู้ค้าปลีก (Retailer) ควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์และกระตุ้นยอดขาย และ 3) ประเทศในภูมิภาคเอเชีย สำหรับกลุ่มประเทศในทวีปเอเชียที่บริษัทฯ ได้เริ่มขยายตลาดเพิ่มเติมในปี 2567 ที่ผ่านมา กลยุทธ์ในปี 2568 จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง (Build Fundamental) และการกระจายสินค้าให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง
และ 4 ขยายตลาดต่างประเทศใหม่ๆ โดยในปี 68 ตั้งเป้าหมายขยายสู่กลุ่มประเทศใหม่เพิ่มเติม 5-10 ประเทศ มุ่งเน้นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพเติบโตในภูมิภาคเอเชียและยุโรป ผ่านการออกงานแสดงสินค้า พร้อมแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังคงให้ความสำคัญกับการวางแผนในการเข้าสู่ตลาดใหม่อย่างมีกลยุทธ์ และรอบคอบ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ด้วยผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น และตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าอย่างครอบคลุม นอกจากนี้ ด้วยแนวคิด “Better-for-You” Snack ซึ่งกำลังเติบโตทั่วโลก ทั้งนี้ ปี 67 บริษัทขยายตลาดส่งออกไปแล้ว 21 ประเทศ จาก 12 ประเทศในปี 66
บริษัทฯ วางแผนสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก (International Brand) โดยการเสริมความแข็งแกร่งและสร้างรากฐานในประเทศใหม่ๆ พร้อมขยายไปสู่ภูมิภาคที่มีศักยภาพสูง รวมถึงตลาดในกลุ่มประเทศฮาลาล ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการเติบโต
นายสิริณัฏฐ์ ชญาน์นันท์ กรรมการผู้จัดการ CHAO กล่าวว่า บริษัทประเมินภาพรวมตลาดขนมขบเคี้ยวไทยระหว่างปี 67-70 จะเติบโต CAGR 6.5% มีมูลค่าตลาดรวมเพิ่มเป็น 1.28 แสนล้านบาท จาก ปี 67 มีมูลค่าตลาดขนมขบเคี้ยว 1.05 แสนล้านบาท ซึ่งบริษัทเห็นว่า เจ้าสัวเห็นว่ายังมีโอกาสเติบโตได้ โดยเฉพาะกลุ่ม Better-for-you Snack ซึ่งกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จึงได้เตรียมความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ครอบคลุม รวมทั้งสร้างความแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ เพื่อเป็นขนมขบเคี้ยวทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้บริโภค ควบคู่กับการรักษาความเป็นผู้นำในตลาดขนมขบเคี้ยวไทยรูปแบบใหม่ หรือ Modern Thai Snacks ซึ่งเจ้าสัวเป็นผู้นำตลาดมาอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ตลาดส่งออกในปีนี้จะเตรียมช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้น ที่โฟกัสตลาดจีนและสหรัฐ ที่จะสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง ปีนี้ยอดขายจะไม่หวือหวา เพราะบริษัทต้องการทำการตลาดด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันบริษัทรอให้โรงงานใหม่แล้วเสร็จและจะเริ่มผลิตต้นปี 69 ที่บริษัทลงทุน 300 ล้านบาท ขยายโรงงานโฮลซัมแห่งที่ 2 ที่มีกำลังการผลิต 2,000 ตัน/ปีในเฟสแรก มุ่งผลิตเพื่อส่งออก จากปัจจุบัน มีโรงงานโฮบซัมแห่งที่ 1 ที่มีกำลังการผลิต 2,000 ตัน/ปี และโรงงานเจ้าสัว กำลังผลิต 5,000 ตัน/ปี
นายสิริณัฏฐ์ กล่าวว่า ในส่วนยอดส่งออก บริษัทได้ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ 100% จึงไม่ได้กังวลมากหากค่าเงินผันผวน ส่วนการเก็บภาษีความเค็มที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ บริษัทได้เตรียมแผนงานรองรับไว้แล้ว ที่อาจจะปรับสูตรการผลิตให้ลดความเค็มลง หรือออกสินค้าใหม่ โดยรับว่าบาง Sku เข้าข่ายถูกเก็บภาษีความเค็มแต่จำนวนไม่มาก
นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันเรื่องค่าแรง วัตถุดิบเพิ่มขึ้น บริษัทพยายามบริหารจัดการต้นทุน ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ผ่านการจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับปรุงกระบวนการอัตโนมัติ การเพิ่มแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างอัตรากำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเด็นสงครามการค้านั้น บริษัทไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.พ. 68)