ส.ประกันชีวิตไทย คาดเงินเฟ้อการแพทย์-สังคมสูงวัยดันเบี้ยรับรวมปี 68 โต 2-3%

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่าปี 68 สมาคมประกันชีวิตไทยได้ประมาณการอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในช่วง 2-3% สอดคล้องกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 68 โต 2.3-3.3% โดยปีนี้มีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกและไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลง ในขณะที่อัตราเบี้ยประกันภัยรับรวมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ GDP (Insurance Penetration Rate) ปีนี้ อยู่ที่ 3.5% ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

การเติบโตของเบี้ยประกันชีวิตไทยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ (Medical Inflation) ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 8-10% โดยบางปีสูงมากถึง 15% สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ และการขยายช่วงอายุการรับประกันสุขภาพออกไปจนถึง 80 ปี ก็เป็นอีกแรงผลักดันที่ทำให้การประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงเติบโตต่อไปได้ และจะมีผลขยายไปถึงการประกันชีวิตอื่นๆ โดยเฉพาะประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance) ที่เป็นสัญญาหลักด้วย

อีกทั้งยังมีการเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ การเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนและมาตรการจากภาครัฐ การผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกำกับดูแลและส่งเสริมภาคธุรกิจผ่านโครงการนวัตกรรมต่างๆ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและระบบ AI เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ และการดำเนินงานปรับปรุงช่องทางการจำหน่ายที่มีอยู่ในปัจจุบันและผสานรูปแบบการขาย ไปจนถึงการส่งมอบบริการและธุรกรรมหลังการขายที่เกี่ยวข้องกับกรมธรรม์ เพื่อยกระดับความพึงพอใจของผู้เอาประกันภัยจนสามารถขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น อีกทั้งยังมีการร่วมมือกันอย่างแข็งขันในทุกด้านของธุรกิจผ่านสมาคมประกันชีวิตไทย เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

ในขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจประกันชีวิตยังคงต้องติดตามปัจจัยท้าทายที่จะส่งผลต่อการเติบโตอย่างสภาวะเศรษฐกิจ ทั้งเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก และเศรษฐกิจภายในประเทศไทยที่เติบโตแบบชะลอลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์เงินเฟ้อและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะกระทบกับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่มีพอร์ตขนาดใหญ่กว่า 43.17% ของเบี้ยประกันชีวิตรวม ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตที่จะขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องทำอย่างระมัดระวังและบริหารความเสี่ยงให้ดี

ขณะที่ผลิตภัณฑ์สุขภาพมีความท้าทายจาก Medical Inflation ที่เพิ่มสูงขึ้นในระดับดับเบิลดิจิท ซึ่งหวังว่าเงื่อนไข Copayment ที่จะใช้กับกรมธรรม์ประกันสุขภาพฉบับใหม่เริ่มคุ้มครองตั้งแต่ 20 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป โดยเชื่อว่า Copayment ลูกค้ากว่า 90 % จะไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนที่ได้รับผลกระทบเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้าเงื่อนไข

“เชื่อว่าเงื่อนไข Copayment จะทำให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงความจำเป็นทางการแพทย์ว่าเขาจำเป็นต้องเข้าไปนอนโรงพยาบาลหรือไม่ และสิ่งนี้เป็นการเริ่มต้นที่จะบริหารจัดการจากการเป็นผู้ป่วยในเท่านั้น เรายังไม้ได้พูดถึงผู้ป่วยนอก”

นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRS 17 ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 68 รวมถึงต้องติดตามสถานการณ์สงครามการค้าโลกหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ กระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งด้านการค้าและบริการ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยังไม่ยุติ ก่อให้เกิดความผันผวนและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมากขึ้น

นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมฯ มีแผนเตรียมพร้อมรับมือปัจจัยท้าทายรอบด้าน โดยนำแนวคิดการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน (ESG) มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ ESG ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และการกำกับดูแล (Governance) ซึ่งเป็นกรอบการกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้ธุรกิจประกันชีวิตมีความยั่งยืนในระยะยาว

ขณะที่ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตของปี 67 เบี้ยประกันภัยรับรวม (Total Premium) อยู่ที่ 653,923 ล้านบาท เติบโต 3.23% เมื่อเทียบกับปี 66 จำแนกเป็น เบี้ยประกันภัยรับใหม่ (New Business Premium) 184,331 ล้านบาท เติบโต 3.28% และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป (Renewal Premium) 469,592 ล้านบาท เติบโต 3.21% คิดเป็นอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ 83%

สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย

1.) เบี้ยประกันภัยรับปีแรก (First Year Premium) 120,026 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 6.81%

2.) เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) 64,305 ล้านบาท เติบโตลดลง 2.71%

สาเหตุสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของธุรกิจมาจากปัจจัยเอื้อทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกระแสใส่ใจสุขภาพของประชาชนที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพและโรคร้ายแรงเติบโตเพิ่มขึ้น และยังช่วยเสริมให้สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health+CI) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 124,786 ล้านบาท เติบโต 13.66% คิดเป็นสัดส่วน 19.08% และยังช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance) และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ซึ่งเป็นสัญญาหลักเติบโตขึ้นตามไปด้วย โดยแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 110,777 ล้านบาท เติบโต 8.93% หรือคิดเป็นสัดส่วน 16.94% ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 282,302ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 0.76% หรือคิดเป็นสัดส่วน 43.17%

นอกจากนี้ ยังมีเหตุจากความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจโดยเฉพาะการรักษาฐานลูกค้าเดิมโดยเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป (Renewal Premium) มีสัดส่วน 72% มีอัตราการเติบโต 3.2% คิดเป็นอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ 83% ส่วนเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ (New Business Premium) มีสัดส่วน 28% เติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการเติบโตของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ และสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.พ. 68)

Tags: , ,
Back to Top