In Focus: จับตา “DOGE” หน่วยงานใหม่ “ทรัมป์” เดินหมากสะเทือนอเมริกา

นาทีนี้คงไม่มีหน่วยงานใดของสหรัฐฯ ที่ร้อนแรงไปกว่า “กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล” (DOGE) ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วประเทศ แม้จะเพิ่งก่อตั้งขึ้นได้ไม่นาน ด้วยการดำเนินการที่เด็ดขาดเพื่อปฏิรูปรัฐบาลกลางและระบบราชการสหรัฐฯ ตามวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำคนปัจจุบันที่เพิ่งหวนคืนสู่ตำแหน่งสมัยที่สองในเดือนม.ค.

เนื่องในโอกาสใกล้ครบรอบหนึ่งเดือนของการก่อตั้งหน่วยงานใหม่ดังกล่าว In Focus จึงขอพาท่านผู้อ่านไปสำรวจความเคลื่อนไหวของ DOGE ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

*รู้จักกระทรวง DOGE

กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล หรือ Department of Government Efficiency (DOGE) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ด้วยการปรับโครงสร้างและเปลี่ยนชื่อจาก U.S. Digital Service (USDS) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นโดยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาในปี 2557 มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมรายจ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงตรวจสอบและกำจัดการใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยจะเป็นองค์กรชั่วคราวซึ่งมีอายุเพียง 18 เดือน และจะหมดวาระในวันที่ 4 ก.ค. 2569 พร้อมด้วยพนักงาน 20 คน

อย่างไรก็ตาม แม้ในชื่อจะมีคำว่า “กระทรวง” แต่ DOGE ไม่มีสถานะเป็นกระทรวง เนื่องจากไม่ได้รับอำนาจอย่างเป็นทางการจากสภาคองเกรสใหัมีสถานะดังกล่าว

*อีลอน มัสก์ เป็นหัวหอก

ทรัมป์ประกาศแต่งตั้งอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และเทสลา (Tesla) และวิเวก รามาสวามี อดีตผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน และผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพรอยแวนท์ ไซเอนเซส (Roivant Sciences) มากำกับดูแล DOGE โดยกล่าวว่า “มัสก์และรามาสวามีจะปูทางให้รัฐบาลของผมรื้อระบบราชการ ลดระเบียบข้อบังคับที่เกินความจำเป็น ตัดค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง และปรับโครงสร้างหน่วยงานของรัฐบาลกลาง”

อย่างไรก็ดี ต่อมา รามาสวามีได้ลาออกจาก DOGE เพื่อลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ ส่งผลให้มัสก์เป็นหัวหอกคนสำคัญของ DOGE

ทั้งนี้ มัสก์ไม่ได้มีสถานะเป็นพนักงานของ DOGE แต่มีบทบาทในฐานะพนักงานของทำเนียบขาวและที่ปรึกษาระดับสูงของปธน.ทรัมป์ ทั้งยังไม่มีอำนาจในการตัดสินใจด้านนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วย ซึ่งสิ่งที่เขาทำได้เป็นเพียงการให้คำแนะนำและสื่อสารคำสั่งของปธน.เท่านั้น

*แค่เริ่มก็โดนรุม

ภายในเวลาไม่นานหลังจากที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น DOGE ก็ถูกองค์กรต่าง ๆ รุมฟ้องในข้อหาขาดความโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็น National Security Counselors, Public Citizen, State Democracy Defenders Fund, American Federation of Government Employees และ Center for Biological Diversity ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมาย Federal Advisory Committee Act (FACA) ที่ระบุว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาของฝ่ายบริหารของรัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบด้านการจ้างงาน การดำเนินงาน และการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ซึ่ง DOGE ไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว และไม่มีพนักงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เข้าร่วมแม้แต่คนเดียว

นอกจากนี้ DOGE ยังถูกศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ สั่งระงับการเข้าถึงระบบการชำระเงินของรัฐบาลกลางเป็นการชั่วคราวในวันที่ 8 ก.พ. ด้วยความกังวลที่ว่า การที่ทีม DOGE เข้าถึงระบบได้ “ก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างใหญ่หลวงต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งอาจทำให้เงินทุนจำนวนมหาศาลของรัฐและประชาชนตกอยู่ในอันตราย” จนกว่าจะมีการไต่สวนเพิ่มเติมในวันที่ 14 ก.พ.

อนึ่ง ระบบดังกล่าวมีหน้าที่ประมวลผลธุรกรรมการเงินมูลค่าล้านล้านดอลลาร์ของภาครัฐ ซึ่งครอบคลุมงบประมาณด้านต่าง ๆ เช่น สาธารณสุข การศึกษา และโครงการด้านสิ่งแวดล้อม

*มีแพ้ก็มีชนะ

แม้ DOGE จะเผชิญกับแรงกดดันทางกฎหมายจากหลายด้าน แต่ก็ใช่ว่าจะล้ม DOGE ได้ง่าย ๆ เมื่อผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะสกัดกั้น DOGE ไม่ให้เข้าถึงระบบของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ในวันที่ 7 ก.พ. ทำให้ DOGE มีชัยเหนือสหภาพแรงงานของพนักงานรัฐบาลที่ต่อต้านความพยายามที่จะลดขนาดระบบราชการของรัฐบาลกลางลง

นอกจากนี้ ศาลยังตีตกคำร้องของกลุ่มอัยการจาก 14 รัฐที่เป็นฝ่ายพรรคเดโมแครตในวันที่ 18 ก.พ. ที่จะห้ามไม่ให้มัสก์และทีมงาน DOGE เข้าถึงระบบภายในและปลดพนักงานในหน่วยงานรัฐบาลกลางหลายแห่งเป็นการชั่วคราว โดยผู้พิพากษาให้เหตุผลว่า กลุ่มรัฐยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าจะได้รับ “ความเสียหายอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้และไม่อาจเยียวยาได้” ในระหว่างการพิจารณาคดี

*ยุบ USAID

DOGE เริ่มสำแดงอิทธิฤทธิ์ในช่วงเช้าวันที่ 3 ก.พ. มัสก์และทีมงาน ระบุว่า พวกเขากำลังดำเนินการยุบองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก พร้อมกล่าวว่า “หน่วยงานนี้เกินเยียวยาแล้ว”

ทั้งนี้ USAID เป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปีงบประมาณ 2566 สหรัฐฯ ได้จัดสรรเงินช่วยเหลือทั่วโลกมูลค่า 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ครอบคลุมตั้งแต่การดูแลสุขภาพสตรีในพื้นที่ขัดแย้ง การเข้าถึงน้ำสะอาด การรักษาผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ ความมั่นคงด้านพลังงาน ไปจนถึงการต่อต้านคอร์รัปชัน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้พนักงานของ USAID เกือบทั้งหมดถูกสั่งพักงานตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. เป็นต้นมา และมีข่าวลือว่าจะลดจำนวนพนักงานของ USAID ให้เหลือเพียง 294 คน จาก 10,000 คน ทั่วโลก โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ทรัมป์และมัสก์ออกมากล่าวหาว่าพนักงาน USAID เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมาย ส่งผลให้พนักงานหลายสิบคนถูกพักงาน ผู้รับเหมาภายในหลายร้อยคนถูกเลย์ออฟ และโครงการช่วยเหลือชีวิตผู้คนทั่วโลกต้องหยุดชะงักลง

*เลิกผลิตเหรียญเพนนี-ปิด “วอยซ์ ออฟ อเมริกา”

ทรัมป์ยังสั่งการให้ยุติการผลิตเหรียญเพนนี โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะ ต้นทุนการผลิตสูงกว่ามูลค่าของเหรียญ ซึ่ง DOGE ระบุว่า ต้นทุนการผลิตเหรียญแต่ละเพนนีอยู่ที่มากกว่า 3 เซนต์ ส่งผลกระทบต่อเงินภาษีของชาวอเมริกันประมาณ 179 ล้านดอลลาร์ในปี 2566

ไม่เพียงเท่านี้ มัสก์ยังออกมาเรียกร้องให้ ปิดสื่อโฆษณาชวนเชื่อที่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างเรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี (Radio Free Europe/Radio Liberty) และวอยซ์ ออฟ อเมริกา (Voice of America) โดยจวกว่าเป็นของตกยุคและสิ้นเปลืองภาษี

*ปลดข้าราชการ

ทรัมป์และมัสก์เริ่มเดินหน้าสั่งปลดพนักงานหลายพันคนจากหน่วยงานของรัฐหลายแห่งเมื่อวันที่ 13 ก.พ. โดยมีการส่งอีเมลแจ้งเกี่ยวกับการเลิกจ้างถึงพนักงานมากกว่า 9,500 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่เพิ่งเข้าทำงานและยังอยู่ในช่วงทดลองงาน

การปลดพนักงานดังกล่าวนั้นเป็นจำนวนที่นอกเหนือไปจากพนักงานราว 75,000 คนที่ยอมรับข้อเสนอเงินชดเชยจากทรัมป์และมัสก์เพื่อให้ลาออกจากงานโดยสมัครใจ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 3% ของข้าราชการพลเรือนทั้งหมด 2.3 ล้านคน

ทรัมป์กล่าวว่า รัฐบาลกลางมีขนาดใหญ่เกินไป และสูญเสียเงินจำนวนมากไปกับความสูญเปล่าและการทุจริต

*ความหวังของทรัมป์

ความร้อนแรงของ DOGE ดูเหมือนจะยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ เมื่อทรัมป์ให้สัมภาษณ์ในวันแข่งขันซูเปอร์โบวล์ที่ออกอากาศเมื่อ 9 ก.พ. ว่า เขาคาดหวังให้มัสก์เปิดโปงการใช้จ่ายงบประมาณอย่างไม่เหมาะสมและการทุจริตมหาศาลภายในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน)

ด้านไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “Meet the Press” ของช่อง NBC ว่า กระบวนการต่อเรือของเพนตากอนเป็นส่วนงานที่มีปัญหาอย่างมาก และควรได้รับการตรวจสอบเป็นพิเศษจาก DOGE พร้อมชี้ว่า เพนตากอนมีปัญหาความล่าช้าในการจัดซื้อจัดจ้าง และจำเป็นต้องให้ผู้นำภาคธุรกิจเข้ามาปฏิรูปกระบวนการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายกังวลว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเสี่ยงต่อการทำข้อมูลลับรั่วไหล อีกทั้งยังอาจเป็นการรื้อโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

*อนาคตของ DOGE และบล็อกเชน

มัสก์เริ่มพูดถึงแนวคิดเกี่ยวกับการใช้บัญชีดิจิทัล (digital ledger) เมื่อวันที่ 27 ม.ค. อันเป็นแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล โดยมีการพูดคุยถึงการใช้บล็อกเชนเพื่อติดตามการใช้จ่ายของรัฐบาลกลาง การรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูล การชำระเงิน ตลอดจนการจัดการอาคาร

ขณะเดียวกัน ปธน.ทรัมป์ก็กำลังผลักดันการบังคับใช้นโยบายที่เอื้ออำนวยต่ออุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี โดยเมื่อวันที่ 23 ม.ค. เขาได้ลงนามในคำสั่งบริหารเพื่อจัดตั้งคณะทำงานด้านสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประกอบไปด้วยสมาชิกคนสำคัญในคณะบริหารของเขา

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนถึงความพยายามของคณะบริหารของทรัมป์ที่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล โดยบล็อกเชนจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางเทคโนโลยีหลายอย่างที่มัสก์และทีมของเขาอาจพยายามนำมาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายและขจัดการใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง การฉ้อโกง และการใช้งบประมาณในทางที่ผิด ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ปธน.ทรัมป์ได้ให้คำมั่นในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในปี 2567

ที่กล่าวมาเป็นความเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือนนับตั้งแต่ที่ DOGE ก่อตั้งขึ้น เราคงต้องจับตาดูต่อไปว่า DOGE จะพลิกโฉมสหรัฐฯ ให้เป็นไปในทิศทางใด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.พ. 68)

Tags: , , ,
Back to Top