นายกฯ เรียกร้องแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบาย ช่วยปชช.หลังเงินเฟ้อยังต่ำ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน “Trust Thailand เชื่อมั่นประเทศไทย” เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน หลังอัตราเงินเฟ้อไทยยังต่ำ และขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจและประชาชนมากขึ้น เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และเพื่อเป็นการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตลอดปี 67 ที่ผ่านมา เงินในระบบยังมีความฝืดเคือง แต่ด้วยความร่วมมือทุกภาคส่วน ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 67 ขยายตัว 2.5% ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย และส่งผลให้การบริโภคในประเทศขยายตัว และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นมาก เป็นผลจากมาตรการฟรีวีซ่าที่ได้ประสานกับหลายประเทศ ซึ่งช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าไทยเพิ่มมากขึ้น

สำหรับในปี 68 รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ขยายตัวได้ 3% โดยมีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญจากการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายประชาชนที่มีแนวโน้มฟื้นตัว และเร่งการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน และมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า การเปรียบเทียบ GDP ของไทย ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่นในอาเซียนนั้น อาจเป็นการมองตัวเลขที่ยังไม่ครบถ้วน ซึ่งต้องดูรายละเอียดจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประกอบกัน ซึ่งจะเห็นว่าอุตสาหกรรมของไทย ไม่ได้รับการพัฒนามายาวนาน แตกต่างกับในอาเซียนที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เช่น มาเลเซีย ที่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มายาวนาน หรือเวียดนาม มีการพัฒนาทักษะของแรงงานในการเขียนซอฟแวร์ต่าง ๆ นอกจากนี้ สภาพคล่องทางเศรษฐกิจยังมีไม่มาก เนื่องจากธนาคารปล่อยสินเชื่อได้ไม่มากพอ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่ไม่สามารถกู้เงินหรือเข้าถึงสินเชื่อเพื่อไปพัฒนาธุรกิจได้ ดังนั้น จึงอยากขอความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนในเรื่องนี้

“รัฐบาลอยากขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ที่มีกำไร เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องด้วยการปล่อยกู้ให้กับคนไทย เพื่อให้มี Cash Flow ในการอัพเกรดธุรกิจตัวเอง และขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาลดดอกเบี้ยเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน เพราะเงินเฟ้อน้อยอยู่”

นายกรัฐมนตรี กล่าว

พร้อมระบุว่า รัฐบาลที่ผ่านมาก็พยายามดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา โดยทำงานร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยมียอดส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น 35% หรือราว 1.14 ล้านล้านบาท และจะเร่งเม็ดเงินเหล่านี้เข้าสู่ระบบมากขึ้น รวมไปถึงมีมาตรการอื่น ๆ เช่น สินเชื่อเพื่อ SMEs การดึงอุตสาหกรรมใหม่เข้าประเทศ ไม่ว่าจะเป็นดาต้าเซนเตอร์, เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ ถือเป็นการเติมเงินครั้งใหญ่ของประเทศ

“งบประมาณภาครัฐยังไม่เพียงพอ รายได้ส่วนใหญ่ ใช้ไปกับรายจ่ายประจำส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นการเหลืองบมาลงทุนให้เกิดเม็ดเงินในประเทศมากขึ้นก็เหลือน้อยเต็มที แม้รัฐบาลจะพยายามจะรัดเข็มขัดการงบประมาณ แต่เราต้องลงทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และงบที่ลงทุนไปจ่ายเป็นรายจ่ายประจำส่วนใหญ่ และเพดานกู้แทบจะไม่เหลือแล้ว แต่เราพยายามหาทางออกมุมต่าง ๆ ให้เงินลงทุนมีประสิทธิภาพ”

นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะฟื้นกำลังซื้อประชาชนเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว รวมถึงการสร้าง Man-made Destination โดยมีการแพลนในทุกจังหวัดให้เกิดการท่องเที่ยว และใช้ซอฟพาวเวอร์สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยได้ทุกเดือน ซึ่งจะช่วยเพิ่ม Cash Flow อย่างต่อเนื่องให้กับประเทศ

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนอุตสาหกรรมในอนาคตที่ประเทศไทยมองเป้าหมาย เรื่องยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเซมิคอนด็อกเตอร์ ซึ่งจะเป็นรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป

“เราพยายามที่จะวางตัวให้เป็น HUB ของภูมิภาค ให้คนที่จะผลิตรถ EV เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย และขณะนี้มีหลายโรงงานที่เข้ามาตั้งอยู่ในประเทศไทย การทำเช่นนี้ก็จะต้องดูเรื่องของ Green energy ประกอบด้วย จะเป็นการทำให้ทั่วโลกได้เล็งเห็นว่า เรากำลังจะก้าวต่อไปสำหรับโลกในอนาคต เป็นสิ่งที่รัฐบาลทราบ และทำควบคู่กันอย่างเป็นระบบ”

นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงหนี้ครัวเรือนถือที่เป็นอุปสรรคการพัฒนาประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยระบุว่า รัฐบาลได้พยายามออกมาตรการ เช่น “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อช่วยเหลือ ซึ่งตัวเลขการแก้หนี้ครัวเรือนเป็นการยกหนี้รายย่อยแล้ว 8.3 แสนบัญชี ทำให้หลุดออกจากการติดเครดิตบูโร และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีกครั้ง โดยรัฐบาลชุดนี้ ได้สานต่อ เพราะถือเป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งขณะนี้มีลูกหนี้ 2.6 แสนบัญชี โดยจะทำให้จบภายในวันที่ 15 มี.ค.นี้

“ขอให้กระทรวงการคลัง หารือกับแบงก์ชาติ เพื่อปรับปรุงโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ให้ครอบคลุมกลุ่มลูกหนี้ ให้ง่ายต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งคิดว่ามาตรการต่าง ๆ จะออกมาในช่วงปลายเดือนมี.ค.นี้ และจะประกาศให้ประชาชนทราบอีกครั้ง”

นายกรัฐมนตรี ระบุ

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า รัฐบาลยังตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ เรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อประชาชนเป็นอย่างมาก จึงได้มีมาตรการในการตัดไฟฟ้า ตัดอินเตอร์เน็ต และตัดน้ำมันที่ส่งเข้าไปยังเมียนมา จนได้รับคำชื่นชมจากประเทศจีนว่าไทยมีความเด็ดขาด, การออก พ.ร.ก.เรื่องการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีเนื้อหาให้บริษัทโทรคมนาคม และธนาคารพาณิชย์ร่วมกันรับผิดชอบแก่ผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวงโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย

“ขณะนี้ มีการปล่อยตัวเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ประมาณ 300 คน และมีอีก 7,000 คนที่รอการปล่อยตัว ซึ่งอยู่ระหว่างการพูดคุยกันระหว่างประเทศ ทั้งนี้มีการรายงานว่ามีการใช้ไฟลดลง 40% ถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างมาก…ต้องเป็นการทำงานร่วมกัน รัฐบาลออกกฎอย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ และน่าจะเห็นผลเร็วเร็วนี้ เพื่อให้การจัดการกับคอลเซ็นเตอร์มีประสิทธิภาพ”

นายกรัฐมนตรี ระบุ

พร้อมย้ำว่า ขอความร่วมมือและขอกำลังใจจากทุกภาคส่วนให้ร่วมมือกันพัฒนาประเทศ ต่อยอดขึ้นไปให้เศรษฐกิจดีขึ้น ให้เม็ดเงินลงทุนหมุนเวียนในประเทศของเรามากยิ่งขึ้น โดยนายกรัฐมนตรี จะเดินหน้าโรดโชว์เพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามา ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น

“ขอให้ทุกคนมีความเชื่อมั่น ว่ารัฐบาลเห็นทุกปัญหา ของทุกพื้นที่ และพร้อมสนับสนุน ให้ความร่วมมือกับประชาชน และภาคเอกชน เพื่อพัฒนาประเทศของเราไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบ”

นายกรัฐมนตรี กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.พ. 68)

Tags: , , , , , ,
Back to Top