
ผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ไม่อนุมัติคำร้องที่จะสั่งห้ามอีลอน มัสก์ และทีมกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) ของรัฐบาลทรัมป์ เข้าถึงระบบภายในและปลดพนักงานในหน่วยงานรัฐบาลกลางหลายแห่งเป็นการชั่วคราว ส่งผลให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการผลักดันหนึ่งในนโยบายสำคัญของเขา
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเมื่อวานนี้ (18 ก.พ.) ว่า ผู้พิพากษาทันยา ชุตกาน แห่งศาลแขวงในกรุงวอชิงตัน ได้ปฏิเสธคำร้องขอให้ศาลเข้าแทรกแซงโดยทันทีจากกลุ่มอัยการจาก 14 รัฐที่เป็นฝ่ายพรรคเดโมแครต ซึ่งกลุ่มนี้โต้แย้งว่า มัสก์กำลังใช้อำนาจในการปรับโครงสร้างรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งที่อำนาจดังกล่าวควรสงวนไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ผ่านการรับรองจากวุฒิสภาเท่านั้น
ผู้พิพากษาชุตกานให้เหตุผลในการปฏิเสธคำร้องว่า กลุ่มรัฐยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าจะได้รับ “ความเสียหายอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้และไม่อาจเยียวยาได้” ในระหว่างการพิจารณาคดี ทั้งยังระบุว่า รายงานของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการดำเนินการของมัสก์และกระทรวง DOGE นั้น ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะใช้ออกคำสั่งตามคำร้องได้ กระนั้น ศาลเห็นว่า ข้อโต้แย้งของกลุ่มรัฐในประเด็นเกี่ยวกับบทบาทของมัสก์ในรัฐบาลนั้น เป็นข้อโต้แย้งที่มีเหตุผลและมีผลกระทบอย่างสำคัญ
ผู้พิพากษาชุตกานเขียนว่า “โจทก์มีเหตุผลที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นอำนาจที่ไร้การตรวจสอบของบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และหน่วยงานที่ไม่ได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐสภาหรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐสภา … ในสถานการณ์เช่นนี้ ศาลจำเป็นต้องดำเนินการภายใต้ขอบเขตอำนาจของตนอย่างชัดเจน”
ทั้งนี้ กลุ่ม 14 รัฐได้ยื่นคำร้องขอคำสั่งชั่วคราวเร่งด่วนเป็นเวลา 14 วัน ระหว่างที่ผู้พิพากษาชุตกานกำลังพิจารณาอีกคำร้องหนึ่งที่ขอให้มีคำสั่งห้ามระยะยาวที่ครอบคลุมมากขึ้น นั่นคือการห้ามไม่ให้มัสก์และทีมงาน DOGE เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับระบบของหน่วยงานรัฐ ตลอดจนการตัดสินใจด้านนโยบาย งบประมาณ และการบริหารงานบุคคล
ด้านทนายจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ แฮรี เกรเวอร์ ได้โต้แย้งว่า กลุ่ม 14 รัฐคงไม่มีทางชนะคดีที่กล่าวหาว่า ตำแหน่งของมัสก์ละเมิดบทบัญญัติว่าด้วยการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ (Appointments Clause) ซึ่งเขาชี้แจงว่า บทบัญญัตินี้ “เกี่ยวข้องเฉพาะกรณีที่บุคคลครองตำแหน่งและใช้อำนาจที่มาพร้อมกับตำแหน่งนั้นในการบริหารประเทศเท่านั้น”
“เพื่อน ๆ ของผม (หมายถึงฝ่ายโจทก์) ไม่เคยแสดงหลักฐานใด ๆ เลย และก็ไม่มีทางแสดงได้ด้วย ที่จะพิสูจน์ว่า อีลอน มัสก์ มีอำนาจอย่างเป็นทางการหรืออำนาจที่แท้จริงในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ของรัฐบาลด้วยตัวเอง” เกรเวอร์กล่าว
อนึ่ง กลุ่ม 14 รัฐได้ร่วมกันฟ้องคดีเพื่อขอให้ยกเลิกการกระทำทั้งหมดที่มัสก์ได้ทำไปแล้ว และขอให้ระงับการดำเนินงานของ DOGE อย่างน้อยก็ในรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
กลุ่มรัฐเหล่านี้ได้ปรับลดขอบเขตคำร้องขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้แคบลง โดยจำกัดเฉพาะ 7 หน่วยงานเท่านั้น ได้แก่ สำนักงานบริหารงานบุคคล, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ พวกเขายังปรับให้มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องการเข้าถึงข้อมูลและการโยกย้ายบุคลากรเท่านั้น หลังจากที่ผู้พิพากษาชุตกานแสดงความกังวลว่า คำร้องเดิมของพวกเขามีขอบเขตกว้างเกินไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.พ. 68)
Tags: DOGE, กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล, ประธานาธิบดีสหรัฐ, ศาลสหรัฐ, หน่วยงานรัฐ, อีลอน มัสก์, โดนัลด์ ทรัมป์