
ทีมสืบสวนจากแคนาดานำกล่องดำของเครื่องบินสายการบินเดลต้า (Delta Air Lines) ซึ่งประสบเหตุพลิกหงายท้องขณะลงจอดที่โทรอนโตเมื่อวันก่อน ส่งไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ ซึ่งส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 21 ราย
เคน เว็บสเตอร์ เจ้าหน้าที่สืบสวนอาวุโสของคณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแคนาดา เปิดเผยผ่านทางวิดีโอเมื่อวันอังคาร (18 ก.พ.) ว่า หลังจากเครื่องบินรุ่น CRJ-900 กระแทกรันเวย์ที่สนามบินนานาชาติโทรอนโต เพียร์สัน ชิ้นส่วนของเครื่องบินได้หลุดออกจากกันและเกิดเพลิงไหม้
ทีมสืบสวนแคนาดากว่า 20 คนเป็นผู้นำการตรวจสอบเครื่องบินลำนี้ซึ่งดำเนินการโดยสายการบินเอนเดฟเวอร์ (Endeavor Air) ในเครือของเดลต้า โดยได้รับความช่วยเหลือจากคณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติสหรัฐฯ (NTSB) หน่วยงานกำกับดูแลการขนส่งของแคนาดา (Transport Canada) และสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA)
เว็บสเตอร์แสดงความเห็นสอดคล้องกับเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยการบินรายอื่น ๆ ว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะระบุสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเที่ยวบิน Delta 4819 ที่ออกเดินทางจากสนามบินนานาชาติมินนีแอโพลิส-เซนต์พอล โดยมีผู้โดยสารรวมลูกเรือ 80 ราย
ข้อมูลจากไฟลท์เรดาร์24 (FlightRadar24) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ติดตามเที่ยวบิน ระบุว่า สภาพอากาศในช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมี “ลมพัดแรงและหิมะปลิว”
ด้านผู้เชี่ยวชาญระบุว่า จากภาพวิดีโอขณะเครื่องร่อนลงที่ถูกแชร์อย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดียทำให้เห็นว่า การลงจอดเป็นแนวราบ โดยไม่มีการการดึงหัวเครื่องขึ้นก่อนแตะพื้นรันเวย์เพื่อช่วยลดความเร็ว (flare)
ทั้งนี้ เครื่องบินที่ประสบเหตุ รุ่น CRJ900 มีอายุการใช้งาน 16 ปี ผลิตโดยบอมบาร์ดิเอร์ (Bombardier) ของแคนาดา และใช้เครื่องยนต์ของบริษัทจีอี แอโรสเปซ (GE Aerospace) โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 90 คน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.พ. 68)
Tags: Delta Air Lines, เครื่องบิน, เดลต้า แอร์ไลน์, แคนาดา