อนาคตทีวีไทยไปต่อหรือพอแค่นี้? กสทช.วาง Roadmap หวังปรับเป็นพื้นที่สาธารณะ เชื่อมโยงสังคม

วงเสวนาวิชาการ “ทีวีไทย ไปต่อ หรือ พอแค่นี้?” จัดโดยคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านกิจการโทรทัศน์ โดยเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ผ่านคลิปวิดีโอ เมื่อ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา

น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ชี้กิจการโทรทัศน์ยังต้องมีบทบาทต่อไปในสังคมไทย โดยทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางที่เชื่อถือได้ เชื่อมโยงสังคม และควรได้รับการส่งเสริมให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลกการทำ Roadmap สำหรับกิจการโทรทัศน์ คาดว่าจะเสร็จภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งจะเชิญทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยมาพูดคุยเพื่อประเมินและพัฒนา Roadmap นี้ร่วมกัน

“เป้าหมายสุดท้าย โทรทัศน์อาจไม่ใช่ public sphere ภาพเดิมแบบที่เราเคยเห็น เป็นพื้นที่แห่งการสร้าง public opinion ที่เป็นเหตุเป็นผล เคารพสิทธิ์ทุกคน คนจากทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมสร้างพื้นที่สาธารณะได้ แต่อย่างน้อยเป้าหมายที่ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์มองคือทำอย่างไร ให้โทรทัศน์ที่เป็นโทรทัศน์ของประเทศเป็นพื้นที่ที่ trusted มากขึ้น เชื่อถือได้ ไว้ใจได้ เราต้องเสริมแรงในทางเศรษฐกิจให้กิจการโทรทัศน์อยู่ได้ ในขณะเดียวกันเรื่องจริยธรรม การแก้ปัญหา การเฝ้าระวัง disinformation เพิ่มการรู้เท่าทันสื่อและการส่งเสริมสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในภาคประชาชนต่างๆ เป็นสี่เสาหลักที่เราตั้งเป้าให้โทรทัศน์ไทยได้ไปต่อและไปถึง”

น.ส.พิรงรองกล่าว กล่าว

น.ส.พิรงรอง กล่าว่า ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย และส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มระดับโลกที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่ออุตสาหกรรมโทรทัศน์ของไทย ทั้งนี้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และพฤติกรรมการบริโภคส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบกิจการภายในประเทศ นอกจากนี้ เทคโนโลยีการลงโฆษณาแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย (addressable advertising) และเอไอยังเป็นเครื่องมือที่จะเปลี่ยนข้อมูลของผู้ใช้แพลตฟอร์มเป็นทรัพยากรที่นำมาควบคุมการบริโภคสื่ออีกทีหนึ่ง ซึ่งเกิดคำถามว่าจะมีผลต่อความคิดค่านิยมและการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมอย่างไร

จากการสำรวจการรับชมทีวีตามผังรายการเนื้อหาที่คนยังดูอยู่ทีวีพื้นฐานคือรายการข่าวที่คนจะมีประสบการณ์ร่วมกันและกลุ่ม Streaming ยังทำไม่ได้ ที่น่าเสียดายคือรายการเด็กและสารคดีซึ่งคนดูทีวีผ่านสตรีมมิ่ง อุปกรณ์ออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตจะเป็นกลไกสำคัญในการส่งผ่านเนื้อหา คู่แข่งของทีวีดาวเทียม

ในขณะที่ตัวเลขยอดผู้ชมและปฏิสัมพันธ์ (engagement) มีผลต่อรายได้ของสื่อ และเนื้อหาที่ไม่มีมาตรฐานคุณภาพอาจได้รับความนิยมมากกว่าเนื้อหาที่มีสาระ นอกจากนี้ ผู้ชมแต่ละคนอาจเลือกรับสื่อเฉพาะในเรื่องที่ตนเองสนใจ บวกกับการแพร่กระจายของข่าวลวง (disinformation) ดังนั้น บทบาทของรายการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพจึงยิ่งทวีความสำคัญ

“โทรทัศน์น่าจะเป็นพื้นที่ตรงกลาง เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทำให้คนมีความเข้าใจและเชื่อมโยงในสิ่งที่เป็นประเด็นร่วมกันของสาธารณะ ที่ควรจะมีนโยบายสาธารณะร่วมกัน”

ก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. และบริษัทที่ปรึกษาได้เคยศึกษาฉากทัศน์ของกิจการโทรทัศน์ไทย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า หากไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ อุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยจะมีแนวโน้มถึงกาลล่มสลาย ทั้งนี้ กสทช. มีการดำเนินการเพื่อสนับสนุนกิจการโทรทัศน์ไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ ส่วนในฉากทัศน์ที่ดีที่สุดคือมีการลงทุนและสนับสนุนเต็มที่ เพื่อให้ผู้ประกอบการของไทยทั้ง broadcaster และผู้ผลิตเนื้อหาสามารถไปแข่งขันในระดับโลกได้ อย่างไรก็ตาม รัฐต้องดูแลคนที่ไม่มีทุน ไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และบริการสตรีมมิ่งให้ยังสามารถรับสื่อและข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพได้

“อย่างน้อย ต้องมีการลงทุน เสริมศักยภาพให้ผู้ประกอบการทีวีไทยอยู่ต่อไปได้ ไม่ใช่แค่ทีวีดิจิทัลแต่รวมถึง เคเบิ้ล สื่อชุมชน สื่อท้องถิ่นมีการปรับตัว” น.ส.พิรงรอง กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.พ. 68)

Tags: , , ,
Back to Top