
ไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนา “เซรั่มน้ำยางพารา” สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ชี้เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมยางพาราไทย สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมมูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาท/ปี
น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า การใช้เซรั่มน้ำยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ภาคอุตสาหกรรมและการแพทย์ ซึ่งเป็นการนำเซรั่มน้ำยางพารามาผ่านกระบวนการได้เป็นสารต้านอัลไซเมอร์ มะเร็ง ป้องกันโรคกระดูกพรุน ป้องกันโรคเบาหวาน โดยผลิตภัณฑ์นี้ สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากเดิมได้ไม่น้อยกว่า 100 เท่า สามารถเพิ่มมูลค่าราคายางพาราแก่ผู้ประกอบการได้มากขึ้น คาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ภูมิภาค ได้ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทในปี 2570 ทั้งยังส่งผลให้เกิดนวัตกรรมและสิทธิบัตรนานาชาติเกี่ยวกับเทคโนโลยี การสกัดสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพมูลค่าสูงหลายรายการ

เดิมทีอุตสาหกรรมยางพารามุ่งเน้นการส่งออกในรูปวัตถุดิบต้นน้ำ ต่อมาศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพเซรั่มน้ำยางพารา (CERB) มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ ได้ศึกษาคุณสมบัติของเซรั่มน้ำยางพารา ซึ่งเป็นองค์ประกอบของน้ำยาง ประกอบด้วย เซรั่มน้ำยางพาราคิดเป็น 65% ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมผลิตยาง เพื่อพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพและการแพทย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
โดยแบ่งเป็น 2 แพลตฟอร์มเทคโนโลยี ได้แก่
1.แพลตฟอร์มการสกัดแยกส่วน (Separation-based technology) โดยการแยกสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเซรั่มน้ำยางพารา
2.แพลตฟอร์มการย่อยด้วยเอนไซม์ (Digestion-based technology) โดยการใช้เอนไซม์เฉพาะเพื่อสกัดสารชีวภาพที่มีมูลค่าสูง เพื่อนำสารสำคัญมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ อาทิ สารสกัด Hb-extract เพื่อใช้ในเวชสำอาง มีสารพฤกษเคมีช่วยบำรุงผิว, Hevea latex oligosaccharides (HLOs) มีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกส์ คล้าย Human Milk Oligosaccharides (HMO) และช่วยต้านอัลไซเมอร์และมะเร็ง, Beta-glucan oligosaccharide (BGOs) มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ช่วยลดริ้วรอย และต้านมะเร็ง, Quebrachitol มีศักยภาพช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน และป้องกันโรคเบาหวานและ5’-Methylthioadenosine (MTA) มีฤทธิ์ต้านมาลาเรีย วัณโรค และมะเร็ง เป็นต้น
ปัจจุบัน CERB ได้พัฒนาโรงงานต้นแบบผลิตสารชีววัตถุจากเซรั่มน้ำยางพาราซึ่งเป็นความร่วมมือกับบริษัท อินโนซุส จำกัด ซึ่งมีการลงทุนแล้วกว่า 100 ล้านบาท เพื่อรองรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรมในอนาคต โดยโครงการดังกล่าวคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาท/ปี แน่นอนว่าการพัฒนาเทคโนโลยีนี้นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำแล้ว ยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราไทยให้ก้าวสู่ตลาดผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพระดับสากล ที่สำคัญยังเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการแพทย์ของประเทศ นอกจากนี้ โครงการนี้ยังเปิดโอกาสให้ภาคเกษตรกรมีช่องทางรายได้เพิ่มขึ้น ผ่านการจำหน่ายเซรั่มน้ำยางพาราไปยังโรงงานแปรรูป ตลอดจนกระตุ้นการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น อาหารเสริม ยาชีวภาพ และเวชสำอาง ที่มีศักยภาพแข่งขันในตลาดโลก
สำหรับแผนในอนาคต CERB ตั้งเป้าผลักดันการขึ้นทะเบียนสารชีวภาพจากเซรั่มน้ำยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานผลิตระดับอุตสาหกรรมตามมาตรฐาน GMP โดยคาดว่าภายในไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะสามารถสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากทรัพยากรยางพาราได้อย่างยั่งยืน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.พ. 68)
Tags: ยางพารา, ศุภมาส อิศรภักดี, เซรั่มน้ำยางพารา