
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น อาจฉุดให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่า 2.8% หลังสหรัฐฯ เริ่มดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าที่ขยายวงมากขึ้น อาจกระทบโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก ให้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม นอกจากนี้ ไทยยังเผชิญกับการแข่งขันที่สูงจากจีน ทั้งในตลาดส่งออก และในประเทศ และปัญหาการส่งออกที่ขยายตัวไม่ส่งผ่านผลดีไปสู่ภาคการผลิต
ทั้งนี้ มาตรการกีดกันทางการค้าที่เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น และเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ อาจส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 68 เติบโตได้น้อยกว่าที่คาด โดยเฉพาะด้านการส่งออกสินค้าที่ Krungthai COMPASS คาดว่าจะขยายตัวได้ใกล้เคียงระดับ 6% ในครึ่งปีแรก ก็อาจได้รับผลกระทบให้ขยายตัวได้ต่ำ อีกทั้งอาจส่งผลให้ปัญหาการรทะลักเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศที่มีอยู่เดิม ทวีความรุนแรงมากขึ้น
“ความเสี่ยงที่ทยอยชัดเจนมากขึ้น ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยมาตรการภาครัฐเพิ่มเติมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับความผันผวน” บทวิเคราะห์ ระบุ
- วิจัย CIMBT ขอดู GDP Q1/68 ก่อนฟันธงแนวโน้ม ศก.ทั้งปี
ด้านสำนักวิจัยซีไอเอ็มบีไทย เชื่อว่า ทิศทางของเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ แต่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบประมาณรายจ่ายที่ไม่ได้เกิดความล่าช้าหมือนเช่นปีก่อน, การเพิ่มขึ้นของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน มีทิศทางแผ่วลงได้บ้าง จากการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะที่คาดว่าจะยังปรับลดลงต่อเนื่อง
ขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลจะฉุดรั้งเศรษฐกิจ ได้แก่ การส่งออก ที่เกิดจากความไม่แน่นอนของการค้าระหว่างประเทศ หลังสหรัฐฯ โดยการนำของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งจากนโยบายของทรัมป์ ที่เน้นปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าสหรัฐฯ, การกลับมาอย่างเข้มข้นของนโยบาย America First จะส่งผลต่อการส่งออกของไทยทั้งทางตรง และทางอ้อม
โดยในทางอ้อม การเก็บภาษีจีนจะกระทบห่วงโซ่การผลิตของไทยที่พึ่งพาวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยสูงขึ้น กระทบขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทย และอาจเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบบางประเภท ขณะเดียวกัน สินค้าไทยอาจถูกตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าเข้มงวดขึ้น ป้องกันจีนเลี่ยงเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ อัตราสูง จึงส่งออกไปสหรัฐฯ โดยผ่านไทยที่ถูกเก็บภาษีต่ำกว่าแทน ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้ วิจัยซีไอเอ็มบีไทย จะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในลำดับต่อไป
สำนักวิจัยซีไอเอ็มบีไทย มองว่า ยังมีประเด็นความเสี่ยง และความท้าทายสำคัญอื่น ๆ ดังนี้
– ความไม่แน่นอนของการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะจากปัญหาการชะลอตัวของจีน ที่ถึงแม้ล่าสุด รัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาแล้วก็ตาม
– ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ (รัสเซีย-ยูเครน-ยุโรป, จีน-สหรัฐ) ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส, ปัญหาในทะเลแดง ที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก ค่าระวางเรือ และต้นทุนการขนส่ง และส่งผลต่อห่วงโซ่การผลต
– ทิศทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ การค้า และการเงินของประเทศ และธนาคารกลางประเทศหลักต่าง ๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ
– ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของทั้งผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนเปราะบาง ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อมีความเข้มงวดมากขึ้น
“จากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 4/2567 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ยังคงบ่งชี้ว่า นโยบายการเงินของไทยยังค่อนข้างตึงตัวพอสมควร ซึ่งปัจจัยดังกล่าว น่าจะสนับสนุนให้ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าได้ ทั้งนี้ อาจต้องรอดูพัฒนาการเศรษฐกิจไทย และอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไป โดยเฉพาะในช่วงเดือนพ.ค. (19 พ.ค.) ที่จะมีการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสแรกอีกรอบ” บทวิเคราะห์ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.พ. 68)
Tags: CIMBT, krungthai COMPASS, KTB, สำนักวิจัยซีไอเอ็มบีไทย, เศรษฐกิจไทย