TIDLOR ร่อนจดหมายถึงผถห.แจงพอร์ตสินเชื่อขยายตัวหนุนกำไรปี 67 โตแกร่งฝ่าหนี้ครัวเรือนสูง

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เงินติดล้อ [TIDLOR] ส่งจดหมายถึงผู้ถือหุ้นว่า ปี 67 เป็นอีกหนึ่งปีที่บริษัทมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ด้วยกำไรสุทธิที่เติบโตขึ้น 11.61% ซึ่งได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อที่ 6.65% และการเติบโตที่โดดเด่นของเบี้ยประกันวินาศภัยที่ 16.40% ตัวเลขเหล่านี้ล้วนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ของกลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคาร ซึ่งหดตัว 5.3% ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 67 และเบี้ยประกันภัยในตลาดประกันวินาศภัยที่หดตัว 0.5%

ในส่วนของการเติบโตกำไรสุทธิของผู้ให้บริการสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้นลดลง 2.32% โดยมีเพียงสามจากเจ็ดรายที่สามารถสร้างกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นให้แก่ผู้ถือหุ้น ในขณะที่สี่จากเจ็ดรายมีกำไรสุทธิลดลง และสองรายต้องประสบกับผลขาดทุน จึงกล่าวได้อย่างชัดเจนว่า ปี 67 ถือเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่ท้าทายสำหรับผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคาร

ความสำเร็จของ TIDLOR ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ทุกตัวเลขผลการดำเนินงานที่เห็นล้วนสะท้อนถึงความพยายามของทีมบริหารที่ต้องทำการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และตัดสินใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคที่อาจทำให้ธุรกิจสะดุดตัวในช่วงปีที่ผ่านมา ปัญหาที่เราเผชิญนั้นดูเหมือนจะมาจากทุกทิศทุกทางและมาจากหลากหลายปัจจัยเชื่อมโยงกัน ส่งผลให้เกิดความซับซ้อนมากเกินกว่าที่เราจะสามารถแยกแยะและทำความเข้าใจได้อย่างเต็มที่ และยากที่จะอธิบายให้ชัดเจนได้ ผมจะพยายามอธิบายหัวข้อใหญ่ๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญตลอดเส้นทาง การดำเนินงานของเราในปีที่ผ่านมา

แน่นอนว่าระดับหนี้ครัวเรือนของประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูงราว 90% ของจีดีพีนั้น เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้มีการดำเนินการทางกฎระเบียบในภาคการเงิน นอกจากนี้ ข่าวเสื่อมเสียของบริษัททั้งภาครัฐและเอกชนต่างๆ ยังบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเรื่องมาตรฐานการกำกับดูแลบริษัทในประเทศ และสิ่งที่ทำให้สถานการณ์ซับซ้อนขึ้นไปอีก คือการลดลงของการใช้จ่ายทางการคลัง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มั่นคง การรวมตัวกันของปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและความผันผวนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โชคดีที่บริษัทของเรามีความเชื่อมั่นมาอย่างยาวนานว่าวิธีการเดียวที่จะเตรียมความพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนและหลีกเลี่ยงปัญหา คือการมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีพนักงานที่มีความมุ่งมั่น มีสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงสินทรัพย์ทางการเงิน และในจดหมายประจำปีฉบับนี้ ผมจะพยายามถ่ายทอดปัจจัยที่มองไม่เห็นเหล่านี้ให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจสำหรับทุกท่าน

สำหรับธุรกิจสินเชื่อของ TIDLOR ยังคงขยายส่วนแบ่งตลาดอย่างแข็งแกร่ง ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยสาเหตุที่พอร์ตสินเชื่อของบริษัทไม่เติบโตในช่วงไตรมาส 3/67 หลังจากการเติบโตที่แข็งแกร่งในสองไตรมาสแรก แต่ก็สามารถกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในไตรมาสสุดท้าย และปิดปีด้วยอัตราการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อที่น่าพอใจที่ 6.65% เป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่สัมพันธ์กับการเติบโตของสินทรัพย์แต่ไม่ได้ปรากฏในรายงานทางการเงิน คือ จำนวนฐานลูกค้าสินเชื่อปัจจุบันของบริษัท ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างน่าประทับใจถึง 11.31% แม้ว่าจะชะลอการปล่อยสินเชื่อในช่วงไตรมาส 3/67 จากความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อ การคัดเลือกลูกค้าที่เข้มงวดขึ้น และการอนุมัติวงเงินด้วยจำนวนเงินที่น้อยลง แต่ฐานลูกค้าของเรายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้กู้รายใหม่เพิ่มขึ้นหลายพันรายต่อเดือน แม้ในช่วงที่การเติบโตของพอร์ตสินเชื่ออยู่ในระดับทรงตัวหรือหดตัวลง

อีกหนึ่งแหล่งรายได้ที่หลากหลายของเงินติดล้อ คือ ธุรกิจนายหน้าประกันภัย เมื่อบริษัทเริ่มนำเสนอประกันภัยรถยนต์ที่มีราคาจับต้องได้เป็นผลิตภัณฑ์หลักแยกออกมาจากผลิตภัณฑ์สินเชื่อในปี 61 และได้ตั้งใจที่จะสร้างเครื่องยนต์การเติบโตธุรกิจตัวที่สอง ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตแยกจากธุรกิจสินเชื่อ ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ของเรา ได้แก่ บุคลากร เทคโนโลยี และช่องทางการจัดจำหน่าย กลยุทธ์นี้ได้รับการพิสูจน์แล้วในปี 67 โดยธุรกิจนายหน้าประกันภัยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ากิจกรรมสินเชื่อของ TIDLOR จะชะลอตัวลง ไม่เพียงแต่การเติบโตของธุรกิจนายหน้าประกันภัยจะสูงกว่าธุรกิจสินเชื่อ แต่เบี้ยประกันวินาศภัยของเรายังเพิ่มขึ้น 16.4% ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของตลาดอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากตลาดโดยรวมหดตัวลง 0.5% และธุรกิจนายหน้าประกันของบริษัทยังคงรักษาความเป็นผู้นำในฐานะผู้จำหน่ายประกันวินาศภัยอันดับหนึ่งสำหรับกลุ่มลูกค้าที่เข้าไม่ถึงบริการด้านประกันผ่านช่องทางสาขา

เมื่อมองไปข้างหน้า ยังมีความไม่แน่นอนมากขึ้น แต่ก็มีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งในปีปี 67 เป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ซบเซา การผันผวนของอัตราดอกเบี้ย การกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้น เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อที่ตึงตัว และความไม่แน่นอนโดยทั่วไป ยังคงมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในปี 68 อย่างไรก็ตาม การดำเนินต่อไปของสถานการณ์เหล่านี้ อาจเผยให้เห็นถึงจุดอ่อนของบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และอาจส่งผลกระทบทางอ้อมหรือโดยตรงต่อเงินติดล้อในบางแง่มุม จุดที่น่าจะเป็นโอกาสที่ผมสามารถระบุได้คือความต้องการสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันที่เพิ่มขึ้น จากข้อจำกัดด้านเงินทุนสำหรับผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคาร เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นของธนาคาร การใช้จ่ายของภาครัฐที่เร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา ปัจจัยสุดท้ายนี้น่าจะส่งผลเชิงบวกต่อกิจกรรมทางธุรกิจโดยรวม แต่จะเป็นประโยชน์มากสำหรับกลุ่มลูกค้ารถบรรทุกที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

การคาดการณ์ปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลต่อพอร์ตสินเชื่อในอนาคตของเราในแต่ละปีได้อย่างแม่นยำนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย หากมองไปข้างหน้า เราคาดว่าจะยังคงดำเนินแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์อย่างเช่นปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการตัดหนี้สูญก่อนกำหนด และยังคงดำเนินการเชิงรุกในการปรับปรุงนโยบายและการจัดสรรทรัพยากร ดังนั้น เป้าหมายของเราไม่เคยเป็นการทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำ หรือสร้างความเชื่อว่าเราจะไม่ผิดพลาด แต่คือการรักษางบดุลให้แข็งแกร่งและพร้อมที่จะตอบสนองเมื่อวิกฤตหรือโอกาสเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา TIDLOR ได้จัดการประชุมผู้นำองค์กร โดยมีทีมงาน 25 ทีมนำเสนอแผนงานสำหรับปี 68 และในอนาคต ตลอดระยะเวลา 2 วันเต็ม ผู้นำระดับสูงของบริษัทและทีมงานหลักได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับปัญหา ความคาดหวัง โครงการริเริ่ม และแผนการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนเงินติดล้อให้ก้าวไปข้างหน้า ผมรู้สึกประทับใจในความเป็นหนึ่งเดียว แรงขับเคลื่อน และความกระตือรือร้นที่เราทุกคนมีต่ออนาคตของบริษัทและรู้สึกทึ่งกับความจริงที่ว่า แม้เราจะเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านสินทรัพย์ ผลิตภัณฑ์ เครือข่ายสาขา ทักษะ และผลกำไรมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ ทีมผู้นำของเรายังคงมีแนวคิดใหม่ๆ อย่างไม่สิ้นสุด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและนำพาบริษัทไปสู่ความสำเร็จในระดับที่สูงยิ่งขึ้น

ดังนั้น เป็นเรื่องปกติที่เมื่อมีคนถามผมถึงปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ และเปิดโอกาสให้ผมคาดการณ์แนวโน้มในระยะยาว คำตอบของผมมักเป็นเชิงบวกมากกว่าการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจในปีถัดไป ผมมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในความสามารถของทีมงานของเราในการปรับตัว เปลี่ยนแปลง และใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้จำนวนมากที่มีอยู่ โดยอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมา การรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้เงินติดล้อมีเอกลักษณ์ และการดำเนินกลยุทธ์ด้านสินเชื่อและประกันภัยที่เราได้บ่มเพาะและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมภายนอกในรูปแบบใดก็ตาม

เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 68 บริษัทมีความมั่นใจมากขึ้นกว่าเดิมในตำแหน่งทางการแข่งขันและศักยภาพในระยะยาวของบริษัท แม้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจเผชิญกับการเติบโตที่ชะลอตัวต่อเนื่อง แต่เรายังคงมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน พนักงานที่มีความสามารถและมุ่งมั่น รวมถึงระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งทำให้เราอยู่ในสถานะที่พร้อมจะประสบความสำเร็จ ในขณะที่ตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันสำหรับ ผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารมีแนวโน้มที่จะมีการควบรวมกันมากขึ้น และพฤติกรรมของผู้กู้กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคารกำลังเปลี่ยนถ่ายไปสู่การใช้ช่องทางการบริการตนเองมากยิ่งขึ้น

สำหรับมุมมองรเกี่ยวกับโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่รัฐบาลประกาศในเดือนธ.ค. 67 เคยมีคำกล่าวที่ผมไม่ทราบที่มาว่า “ยามวิกฤต ต้องใช้มาตรการที่เด็ดขาด” ผมคิดว่านักการเมืองและหน่วยงานกำกับดูแลกังวลเกี่ยวกับตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูง และพวกเขากำลังทดสอบหลากหลายแนวทางเพื่อดูว่าอะไรใช้ได้ผล ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากจำนวนมาตรการที่เริ่มเปิดตัวตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ประเทศไทยเลือกแนวทางที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ รัฐบาลหลายประเทศอนุญาตให้ต้นทุนด้านเครดิต (credit cost) พุ่งสูงขึ้น และใช้วิธีการ “การบันทึกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในครั้งเดียว หรือ ล้างกระดาน” (kitchen sink) กับต้นทุนด้านเครดิต และแก้ปัญหาให้เสร็จสิ้นในคราวเดียว แต่เราเลือกที่จะยืดปัญหาออกไปโดยกำหนดให้มีมาตรการพักชำระหนี้หลายระลอก สิ่งที่บริษัทกำลังเห็นในตอนนี้คือผลกระทบอย่างค่อยเป็นค่อยไปและค่อนข้างหนักของการยกเลิกมาตรการช่วยเหลือเหล่านั้น พร้อมมาตรการเพิ่มเติมที่ออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบ

โครงการล่าสุดนี้เป็นเพียงการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด- 19 โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าประเทศไทยน่าจะเผชิญกับปัญหาหนี้เสีย (NPL) ระดับประเทศอยู่ดี แม้ไม่มีภาวะโควิด-19 ผมไม่แน่ใจว่าโครงการใหม่นี้จะมีประสิทธิภาพเพียงใด เนื่องจากยังเร็วเกินไปที่จะตัดสิน อย่างไรก็ตาม ผมกังวลเล็กน้อยว่าผู้กำหนดนโยบายอาจตอบสนองต่ออคติที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ใกล้ตัวมากเกินไป เป็นเรื่องปกติที่ช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว จำนวนข้อร้องเรียนจะมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราควรตอบสนองต่อปัญหาอย่างรวดเร็วและรีบแก้ปัญหาที่สะสมมานานกว่า 20 ปีภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน

อีกสิ่งหนึ่งที่น่ากังวลอย่างแท้จริงคือ เรื่อง “ภาวะภัยบนศีลธรรม” (Moral Hazard) เพื่อนมหาวิทยาลัยเคยถามผมว่า คิดว่าจะมีโครงการช่วยเหลือใหม่ออกมาอีกหรือไม่ และพวกเขาควรหยุดชำระเงินกู้เพื่อให้คุณสมบัติตรงตามเกณฑ์โครงการในรอบถัดไปหรือไม่ โครงการนี้ดูเหมือนจะเข้ากับสิ่งที่เรียกว่า “ปัญหา 3 อ.” ของโครงการรัฐบาล ตามที่อธิบายไว้ในหนังสือชื่อ “เศรษฐศาสตร์ความจน” (Poor Economics) โครงการนี้ครอบคลุมวงเงินมูลค่าน้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท ในขณะที่หนี้ครัวเรือนทั้งหมดมีมูลค่าสูงกว่ามาก ที่ประมาณ 17 ล้านล้านบาท รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่าอัตราการเข้าร่วมโครงการนี้น่าจะไม่ใช่ 100%

“ผมไม่แน่ใจว่าการพยายามแก้ไขปัญหาของผู้กู้ยืมในลักษณะนี้ ซึ่งเป็นตัวเศษของสมการ มีความคุ้มค่ากับเวลาและความพยายามหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับการมุ่งเน้นที่การขยายตัวของจีดีพี และการฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นตัวส่วนของสมการแทน อย่างไรก็ตามการประชาสัมพันธ์และการโปรโมตโครงการใหม่นี้ ดูเหมือนจะดำเนินการอย่างเข้มข้น แน่นอนว่าบริษัทจะทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อช่วยเหลือลูกค้าของบริษัท ซึ่บริษัทได้ทำสิ่งเหล่านี้อย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่มีโครงการระดับประเทศก็ตาม” นายปิยะศักดิ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.พ. 68)

Tags: , , ,
Back to Top