
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 68 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่คาดว่าจะโตได้ 2.3-3.3% ค่ากลางที่ 2.8% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขของกระทรวงการคลัง ว่า ปีนี้กระทรวงการคลังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3% และพยายามทำให้ถึง 3.5% โดยในปี 68 รัฐบาลยังมีการขับเคลื่อนนโยบายอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นผ่านโครงการเงิน 10,000 บาทในเฟสถัดไป รวมไปถึงโครงการ Easy E-Receipt ที่เป็นตัวขับเคลื่อนการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งสิ้น
“ปีนี้ กระทรวงการคลังมั่นใจ การเติบโตที่ 3% ยังคงทำได้…เราตั้งเป้าไว้ 3 แน่นอน เราพยายามทำให้ถึง 3.5% ด้วยซ้ำ ซึ่งต้องดูกลไกและสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจอีกพักหนึ่ง” นายจุลพันธ์ กล่าว
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปช่วง 10 ปี การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 2% ปลาย ๆ ทุกปี แต่การเติบโตจริงไม่ถึง 2% เฉลี่ยที่ 1.9% และปีที่ผ่านมาของการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเกินกว่าเป้าหมายในระดับหนึ่ง
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 4/67 นายจุลพันธ์ ยอมรับว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ต้องยอมรับว่า ไตรมาสแรกของปีก่อนหน้าจีดีพีต่ำมาก และพยายามขับเคลื่อนให้จีดีพีโตขึ้น แต่ยังไม่สามารถทำได้ตามที่คาดหวังไว้
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการพูดคุยลงในรายละเอียดกลไกที่จะทำ 3-5 อย่าง เพื่อเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยพยายามให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 0.5% ซึ่งก็มีมาตรการ เช่น การเร่งรัดการเบิกจ่าย และการป้องกันการรั่วไหลของเงิน 10,000 เพื่อให้เงินหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รมช.คลัง ย้ำว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่ามองเพียงการใส่เม็ดเงินเพียงอย่างเดียว แต่กลไกอื่น ๆ เช่น การลดหย่อนภาษี การสร้างความสะดวกการประกอบธุรกิจให้ภาคเอกชน กลไกเหล่านี้สามารถสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งเราไม่จำกัดรูปแบบ ต้องรอให้มีการประชุมและสรุปอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนข้อเสนอของสภาพัฒน์ที่อยากให้รัฐบาลแบ่งเงิน 1.57 แสนล้านบาท ที่จะใช้ในโครงการเงิน 10,000 บาท เฟส 3 ทำมาโครงการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ โครงการละ 5-10 ล้านบาท จะช่วยเศรษฐกิจได้มากกว่านั้น นายจุลพันธ์ มองว่า เป็นเงินในส่วนเดียวกัน แต่การนำเงินไปใช้อาจมีความแตกต่าง ซึ่งการปรับโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ได้ละเลย และมีกลไกที่ดำเนินการอยู่แล้วผ่านงบประมาณประจำปี แต่หากมีความจำเป็นที่ต้องทำ ก็สามารถพูดคุยกันได้ แต่ในขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณา
ส่วนจำเป็นต้องพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อให้มีมาตรการทางการเงินมาช่วยเพิ่มเติมนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า รมว.คลัง มีการพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตลอด และเชื่อว่าเป็นการพูดคุยที่มีข้อเสนอตรงกัน และหาจุดสมดุลว่าควรอยู่ตรงไหน
ซึ่งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในสัปดาห์หน้านั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ได้คาดหวังหรือหวังจะเห็นเซอร์ไพรส์ ซึ่งต้องให้ความสำคัญในเรื่องความเป็นอิสระ แต่เชื่อว่า ธปท.ทราบดีว่าต้องใช้กลไกใดที่สร้างเสถียรภาพทางการเงินได้ และช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยที่ดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่า กนง. พิจารณาอย่างละเอียดอยู่แล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.พ. 68)
Tags: GDP, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, เศรษฐกิจไทย