![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2023/09/B365237FD486226464E4D5A1F8B0DB54.jpg)
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ต.ค.67-ม.ค.68) ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ทั้งปีอยู่ที่ 609,700 ล้านบาท
ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถทำได้ใกล้เคียงกับปีงบประมาณก่อนหน้า หรือขยายตัวสูงกว่าเล็กน้อย โดยหลัก ๆ เป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษีเบียร์ และภาษีเครื่องดื่มต่าง ๆ ขณะเดียวกันคาดว่าการจัดเก็บภาษีน้ำมันจะทำได้เพิ่มขึ้นด้วย แต่ต้องยอมรับว่ายังมีความท้าทายจากการจัดเก็บภาษีอื่น ๆ บ้าง เช่น ภาษีรถยต์ เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยังอยู่ในช่วงชะลอตัว แต่ในภาพรวมยังเชื่อว่าการจัดเก็บภาษีรถยนต์จะทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า
อธิบดีกรมสรรพสามิต ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลสั่งทบทวนกฎหมายการขายสุราโดยเตรียมยกเลิกการจำกัดช่วงเวลาขายนั้น มองว่า จะเป็นการช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ซึ่งในส่วนนี้สอดคล้องกับที่ ครม.ได้เห็นชอบให้มีขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสถานบริการ อาทิ ไนท์คลับ ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจ์ จาก 10% เป็น 5% ของรายรับ ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.68 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.68 เพื่อเป็นการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว โดยการขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีดังกล่าวทำให้มีผู้ประกอบการสถานบริการเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้นพอสมควร ซึ่งในส่วนนี้ก็จะช่วยทำให้การค้าขายสุรา หรือเครื่องดื่มต่าง ๆ น่าจะสูงขึ้นไปด้วย ก็จะช่วยส่งผลดีกับภาษีที่สุราและเครื่องดื่มที่เกี่ยวข้อง
“อุตสาหกรรมยานยนต์ยังมีความท้าทาย จากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งในส่วนนี้อาจจะทำให้การจัดเก็บภาษีรถยนต์ลดลงไปบ้าง แต่มาตรการสนับสนุน EV ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต ส่วนมาตรการ EV 3.0 ในส่วนที่ผู้ประกอบการยังไม่สามารถผลิตรถยนต์ชดเชยได้ตามเงื่อนไขนั้น ขณะนี้มติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ได้เห็นชอบผ่อนเกณฑ์ ขยายเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการแล้ว โดยเตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็ว ๆ นี้ ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นการดูแลอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศด้วย” น.ส.กุลยา กล่าว
ขณะนี้ กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งหลักการสำคัญจะต้องคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยแบตเตอรี่ระดับปฐมภูมิที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอาจจะต้องเสียภาษีในระดับที่สูงกว่าแบตเตอรี่ระดับทุติยภูมิที่สามารถชาร์จได้ รอบระยะเวลาการชาร์จนาน มีน้ำหนักน้อย ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะได้เห็นความชัดเจน
นอกจากนี้ กรมฯ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาการจัดเก็บภาษีความเค็ม ซึ่งหลักการเบื้องต้นจะคิดอัตราภาษีตามปริมาณโซเดียมและส่วนประกอบ เช่น ผงฟู ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่ทำลายสุขภาพ โดยหากมีปริมาณโซเดียมที่สูงก็จะต้องเสียภาษีมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่จะพิจารณาเป็นกลุ่มแรก ๆ คือ ขนมขบเคี้ยว ขนมกรุบกรอบ เนื่องจากมองว่ามีความจำเป็นน้อย หรือไม่มีความจำเป็นในการบริโภคเมื่อเทียบกับสินค้าประเภทอื่น ๆ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษา และยังต้องหารือกับหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานด้านสาธารณสุข ผู้ประกอบการ โดยกรมฯ มองว่ การดำเนินการในส่วนนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีการปรับสูตรต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะต่อไป
“ภาษีความเค็มตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ และคิดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในหลักการภายในปีนี้ โดยกรมฯ พยายามศึกษาเพื่อให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน เพื่อความรอบคอบ ส่วนกลุ่มสินค้าแรก ๆ คงพุ่งเป้าไปที่ขนมขบเคี้ยว ขนมกรุบกรอบก่อน โดยจะเข้าไปดูว่ามีการนำโซเดียมเข้ามาใช้ในผลิตภัณฑ์แค่ไหน ส่วนสินค้าประเภทซอสปรุงรส ผงปรุงรส คงไม่ได้เข้าไปดูขนาดนั้น โดยยืนยันว่าภาพรวมการจัดเก็บภาษีความเค็มทั้งหมด กรมฯ จะพิจารณาไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคมากนัก” น.ส.กุลยา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.พ. 68)
Tags: กรมสรรพสามิต, กระทรวงการคลัง, กุลยา ตันติเตมิท, ภาษี, ภาษีความเค็ม, ภาษีสรรพสามิต, ภาษีแบตเตอรี่