โพลเผยปชช.ส่วนใหญ่มองรัฐบาลแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังไม่ได้ ปัญหาวนซ้ำซาก

“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ค่าฝุ่น PM 2.5 กับคนไทย”กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,255 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 10-14 กุมภาพันธ์ 2568 พบว่า กลุ่มตัวอย่างคิดว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ณ วันนี้ เป็นปัญหาที่รุนแรง ร้อยละ 88.61 โดยตั้งแต่ ปี 2562 ที่เริ่มมีปัญหาฝุ่นจนถึงปัจจุบันส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ซื้อหน้ากาก ซื้อยา ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ร้อยละ 71.16 โดยมองว่าการแก้ไขปัญหาฝุ่นของรัฐบาลยังไม่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 73.39

ทั้งนี้รัฐบาลควรมีมาตรการด้วยการควบคุมการเผาที่ทำให้เกิดมลพิษอย่างเข้มงวด ร้อยละ 82.46

ทั้งนี้หน่วยงานที่ควรเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 คือ กรมควบคุมมลพิษ ร้อยละ 75.82 รองลงมาคือ นายกรัฐมนตรีและฝ่ายรัฐบาล ร้อยละ 63.13

ส่วนในอนาคตประเทศไทยจะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้สำเร็จหรือไม่นั้น กลุ่มตัวอย่างมองว่ายากที่จะแก้ไขได้ มาจากหลายสาเหตุ เป็นปัญหาที่วนกลับมาซ้ำ ร้อยละ 62.95

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนผ่านผลโพลที่ทำมาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน แม้ทุกฝ่ายจะตระหนักถึงสาเหตุหลักของมลพิษ แต่การแก้ไขกลับยังไม่เห็นผลชัดเจนนัก สิ่งที่ประชาชนต้องการไม่ใช่แค่การให้ข้อมูลค่าฝุ่นรายวัน แต่เป็นมาตรการที่เข้มข้นและบังคับใช้จริงจังและทันที ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่านอกจากคุณภาพอากาศที่แย่ลงแล้ว ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลก็อาจถดถอยตามไปด้วย

นายสมศักดิ์ เจริญพูล หัวหน้าศูนย์พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้านกฏหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต อธิบายว่า ฝุ่น PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคนไทย ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ ค่าใช้จ่าย หรือวิถีชีวิต ขณะเดียวกัน ภาครัฐยังคงถูกมองว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ประชาชนจะมีความกังวลว่าการแก้ปัญหาอาจเป็นเรื่องยาก แต่เสียงสะท้อนของคนส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่ามาตรการที่เหมาะสม เช่น การควบคุมการเผาอย่างเข้มงวด การผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดอาจเป็นกุญแจสำคัญในการลดผลกระทบในอนาคต

การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 จึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของภาครัฐเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะอากาศที่สะอาด คือสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ทั้งนี้ในช่วงปี 2013 เมืองปักกิ่ง ประเทศจีนก็ประสบปัญหาไม่ต่างจากประเทศไทยในขณะนี้ แต่ประเทศจีนใช้เวลาเพียง 10 ปี ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบโดยตรง ออกแผนควบคุมมลพิษทางอากาศและบังคับใช้อย่างเข้มงวด รวมทั้งติดตามผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นแนวทางที่ดีในการแก้ไขปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ของประเทศไทยในระยะยาว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.พ. 68)

Tags: , , ,
Back to Top