ไต้หวันสวนกลับ “ทรัมป์” ชี้ ไม่จำเป็นที่ประเทศใดประเทศหนึ่งต้องควบคุมอุตฯ ชิป

เจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีระดับสูงของไต้หวันกล่าวในวันนี้ (15 ก.พ.) ว่า ไม่จำเป็นที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะต้องควบคุมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เพราะอุตสาหกรรมนี้ซับซ้อนและต้องอาศัยการแบ่งงานกันทำ คำกล่าวนี้มีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ วิจารณ์ว่า ไต้หวันมีอิทธิพลมากเกินไปในอุตสาหกรรมชิป

เมื่อวันพฤหัสบดี (13 ก.พ.) ทรัมป์กล่าวย้ำว่า ไต้หวันได้เข้าครอบครองอุตสาหกรรมชิป และเขาต้องการนำอุตสาหกรรมนี้กลับมาสู่สหรัฐฯ โดยระบุว่า เป้าหมายของเขาคือ ฟื้นฟูการผลิตชิปในอเมริกา

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อู๋ เฉิง-เหวิน ประธานสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติของไต้หวันไม่ได้เอ่ยถึงชื่อทรัมป์โดยตรงในโพสต์บนเฟซบุ๊ก แต่ได้อ้างถึงคำพูดของประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อของไต้หวันในวันศุกร์ (14 ก.พ.) ที่ระบุว่า ไต้หวันจะเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์โลกที่ยึดหลักประชาธิปไตย

อู๋โพสต์ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไต้หวันมักถูกถามว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันได้กลายเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติได้อย่างไร

เขาระบุว่า “เราทำอย่างไรถึงประสบความสำเร็จ? แน่นอนว่า เราไม่ได้รับมันมาจากประเทศอื่น”

อู๋พูดถึงวิธีที่รัฐบาลช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 รวมถึงการช่วยก่อตั้ง TSMC ในปี 1987 ซึ่งตอนนี้เป็นบริษัทที่ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลก

“สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าไต้หวันได้ลงทุนกับการทำงานหนักมาครึ่งศตวรรษเพื่อให้ได้ความสำเร็จในวันนี้ และมันไม่ใช่สิ่งที่ได้มาง่าย ๆ จากประเทศอื่น”

อู๋กล่าวว่าทุกประเทศมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการผลิตชิป เช่น ญี่ปุ่น ผลิตเคมีภัณฑ์และอุปกรณ์ ส่วนสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ไม่มีใครเทียบได้ในด้านการออกแบบและการประยุกต์ใช้ระบบนวัตกรรม

“อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีความซับซ้อนสูงและต้องการความเชี่ยวชาญที่แม่นยำ รวมถึงการแบ่งงานที่ชัดเจน เนื่องจากแต่ละประเทศมีจุดแข็งในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน จึงไม่จำเป็นที่ประเทศเดียวจะต้องควบคุมหรือผูกขาดเทคโนโลยีทั้งหมดทั่วโลก”

อู๋ระบุว่า ไต้หวันยินดีที่จะถูกใช้เป็นฐานในการช่วยประเทศประชาธิปไตยที่เป็นมิตรให้มีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 68)

Tags: , ,
Back to Top