![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2023/12/20231226_Canva_เอไอ_AI_ปัญญาประดิษฐ์-1024x576.png)
ผลการสำรวจพบว่า 61% ของคนญี่ปุ่นรู้จักปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) แต่มีเพียง 9% เท่านั้นที่เคยใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งสะท้อนถึงความท้าทายที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญในการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ ขณะเดียวกันก็ต้องรับมือกับความกังวลและความลังเลใจของประชาชน
ผลการสำรวจจากสถาบันวิจัยโนมูระที่ทำการสำรวจผู้คนกว่า 10,000 คนบ่งชี้ว่า 20% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี และ 21% ของผู้ที่มีอายุในช่วง 20 ปีนั้น เคยใช้ Generative AI
ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและจำนวนแรงงานที่ลดลงนั้น ญี่ปุ่นกำลังฝากความหวังไว้กับ AI เพื่อเพิ่มผลผลิตและบรรเทาภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก
แต่เทคโนโลยีนี้ได้สร้างความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย ซึ่งล่าสุดได้สะท้อนให้เห็นในความปั่นป่วนของตลาดการเงินและการดำเนินการจากรัฐบาลหลายประเทศที่จำกัดการใช้แชตบอตปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาโดยดีปซีค (DeepSeek) ซึ่งเป็นสตาร์ตอัปของจีน
ในการสำรวจของโนมูระที่จัดทำขึ้นในเดือนส.ค. 2567 นั้น ผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 60 และ 70 ปีมีความกังวลเกี่ยวกับ AI มากกว่าผู้ที่อายุน้อยกว่า
ด้านสถาบันวิจัยเทโคกุ ดาตาแบงก์ (Teikoku Databank) เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า การใช้ generative AI ดูเหมือนจะแพร่หลายมากขึ้นเล็กน้อยในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงาน เช่น ภาคค้าปลีก
ในขณะที่มากกว่า 85% ของบริษัทที่ได้นำ generative AI มาใช้กล่าวว่า พวกเขารู้สึกถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้ แต่หลายบริษัทก็ระบุว่า ปัญหาหลักคือการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้าน AI, ความรู้ที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายการใช้งาน AI
มาซาโยชิ ซัน ซีอีโอของซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป (Softbank Group) กล่าวในเดือนนี้ว่า ซอฟต์แบงก์, โอเพนเอไอ (OpenAI) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแชตจีพีที (ChatGPT) จะจัดตั้งกิจการร่วมค้าในญี่ปุ่นเพื่อให้บริการ AI แก่ลูกค้าทางธุรกิจ
รัฐบาลญี่ปุ่นหวังที่จะเปิดเผยแผนแม่บทที่นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะกล่าวว่า จะส่งเสริมการพัฒนาและการใช้ AI ในลักษณะที่ปลอดภัยและมั่นคง โดยเขาได้ตกลงกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงในไซเบอร์สเปซผ่านการใช้ AI
รายงานจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลในต้นช่วงเดือนก.พ. ซึ่งอ้างอิงจากการสำรวจในภาคเอกชนระบุว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนญี่ปุ่นใน AI ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับทั่วโลก โดย 77% ระบุว่า มีความจำเป็นต้องมีกฎระเบียบเกี่ยวกับ AI
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 68)
Tags: AI, ญี่ปุ่น, ปัญญาประดิษฐ์