ปชน. ชี้ชัดสภาล่มจากปัญหาขัดแย้งพรรคร่วมรัฐบาล จี้นายกฯ ยุบสภา หากแก้รธน.ไม่ได้

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน แถลงภายหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวดมาตรา 15/1 ล่มเป็นวันที่ 2 จากองค์ประชุมไม่ครบ โดยระบุว่า พรรคประชาชนรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากวาระการประชุมในวันนี้แทบจะเป็นโอกาสสุดท้าย ที่หากสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ก็ยังพอมีโอกาสที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทันต่อการเลือกตั้งปี 2570

“พวกเราเชื่อว่า การแก้ไขเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ มีกระบวนการที่สามารถเดินทางอย่างตรงไปตรงมาได้ ไม่จำเป็นต้องเดินอ้อม เพราะพวกเราก็ไม่เชื่อว่าการเดินอ้อมแบบที่เป็นอยู่ จะสามารถนำไปสู่จุดหมายปลายทางที่ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้”

“ดังนั้น วิธีในการหาทางออกเรื่องนี้ ถ้านายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้นำรัฐบาล มีความจริงจังที่จะเดินหน้าเรื่องนี้ นายกฯ เป็นคนที่ถืออำนาจสูงสุดอยู่แล้วในการยุบสภา นายกฯ สามารถที่จะเข้าไปเจรจาพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล และแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจน ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยเคารพเสียงของประชาชน ถ้าไม่สามารถที่จะเดินหน้าผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายที่ทุกพรรคร่วมรัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาได้ นายกฯ มีอำนาจในการยุบสภา เพื่อคืนเสียงให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนได้” นายณัฐพงษ์กล่าว

 

ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน กล่าวเสริมว่า ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา ประชาชนน่าจะตัดสินใจได้ว่า พรรคไหนจริงจังจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคประชาชน ยืนยันว่าต้องการผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100% เพื่อให้เรามีระบบการเมืองที่ดีขึ้น และทำให้ผู้แทนราษฏสามารถแก้ไขปัญหาประชาชนได้อย่างตรงจุดได้อย่างรวดเร็วขึ้น

โดยการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จนั้น มีบทบัญญัติที่เขียนเอาไว้ชัดเจน ว่าจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอ ทั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และที่สำคัญก็คือ 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งจะเห็นว่าพรรคเพื่อไทย ได้ให้เหตุผลถึงความกังวลใจ หากเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขในวันนี้ และมีการลงมติอาจจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอ โดยเฉพาะจากพรรคภูมิใจไทย และ สว.บางส่วนที่หลายคนวิเคราะห์ว่า อาจจะมีชุดความคิดคล้าย ๆ กับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งอาจไม่ลงมติ หรือมีแนวโน้มจะไม่ลงมติเห็นชอบ เพราะเรื่องข้อกังวลทางกฎหมาย

“อยากจะชวนสังคม และประชาชนตั้งคำถาม ว่าสาเหตุของอุปสรรคที่เราไม่ได้เสียงสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย และ สว.กลุ่มนี้ เป็นเพราะข้อกังวลทางกฎหมายจริง ๆ หรือเป็นเพราะความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล” นายพริษฐ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า หากเชื่อว่าสาเหตุที่แท้จริงแล้ว คือ ข้อกังวลทางกฎหมาย ในมุมหนึ่ง พรรคประชาชนก็ยืนยันว่า สิ่งที่รัฐสภาดำเนินการอยู่ ไม่ได้ขัดกับคำวินิจฉัย 4/2564 และหากวันนี้ สมาชิกพรรคเพื่อไทยร่วมเป็นองค์ประชุมให้เราสามารถประชุมต่อได้ ก็จะเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ร่วมกันชี้แจงกับสังคม และสมาชิกรัฐสภาว่า ทำไมสิ่งที่เราดำเนินการอยู่นั้น ร่างแก้ไขของพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย ไม่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ในอีกมุม คนก็เข้าใจว่าเป็นสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา ที่อาจจะเสนอส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งพรรคประชาชนเพียงแต่ตั้งข้อสังเกต ว่าหากมีการส่งเรื่องไปจริง ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าฝ่ายที่ส่งไปนั้น จะได้คำตอบที่ตัวเองต้องการ เนื่องจากเคยมีการส่งเรื่องไปในลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาแล้ว 2 ครั้ง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.พ. 68)

Tags: , , , ,
Back to Top