![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2024/08/20240819_Canva_Economy-1024x576.png)
ธนาคารโลก (World Bank) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.9% เร่งตัวขึ้นจากปี 67 ที่ขยายตัวได้ 2.6% โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลัง ทั้งนี้ การท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ยังคงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้อัตราการขยายตัวจะชะลอลงบ้างก็ตาม
โดยภาคการท่องเที่ยว คาดว่าภายในกลางปีนี้ จะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านคน จาก 35.3 ล้านคนในปี 67 ส่วนการบริโภคภาคเอกชน จะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการโอนเงิน 10,000 บาท (เฟส 1) ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้น คาดว่ามีส่วนช่วยให้ GDP เติบโตขึ้น 0.3% ในปี 67 อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าว มีต้นทุนทางการคลังสูงถึง 145,000 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 0.8% ของ GDP
ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 0.8% ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระดับ 1.0-3.0%
ด้านการส่งออกนั้น คาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากการเติบโตที่ชะลอตัวในตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา และจีน แม้ว่าตลาดอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก จะอยู่ในภาวะขาขึ้นก็ตาม
ธนาคารโลก เห็นว่า เพื่อเป็นการเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางการคลัง ท่ามกลางความต้องการการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือทางสังคมอย่างตรงเป้าหมาย เพิ่มการระดมรายได้จากภาษี และเร่งการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และทุนมนุษย์ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของภาคเอกชน
นอกจากนี้ ท่าทีทางนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างระมัดระวัง ถือเป็นสิ่งจำเป็นในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนอย่างตรงเป้าหมาย ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน
ขณะเดียวกัน การปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อกระตุ้นการเติบโตในระยะยาว หากไม่มีการปฏิรูปนโยบายอย่างเร่งด่วน คาดว่าอัตราการเติบโตตามศักยภาพของไทย จะลดลงจากค่าเฉลี่ย 3.2% ในปี 2554-2564 เหลือ 2.7% ในช่วงปี 2565-2573 ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศรายได้สูง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.พ. 68)
Tags: GDP, จีดีพี, ธนาคารโลก, เวิลด์แบงก์, เศรษฐกิจไทย