![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2025/02/09374710D91D9768C6796311630F4AA6.jpg)
Krungthai COMPASS ประเมินเบื้องต้นว่า การขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% ของสหรัฐฯ จะส่ง “ผลกระทบทางตรง” ทั้งต่อผลิตภัณฑ์เหล็กและอะลูมิเนียม โดย “สินค้าเหล็ก” อาจได้รับผลกระทบมากกว่า นอกจากนี้ ยังต้องจับตา “ผลกระทบทางอ้อม” จากแนวโน้มการทะลักเข้ามาของเหล็กและอะลูมิเนียมจากจีน ไต้หวัน เวียดนาม ที่อาจดัมพ์ราคา เพื่อระบายสินค้าในตลาด Non-US กดดันให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (CAP-U) ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเหล็ก ให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง
ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ ซึ่งมาตรการทางภาษีดังกล่าว จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 4 มี.ค.68 เป็นต้นไป โดยไม่มีข้อยกเว้นสำหรับประเทศใด ๆ ทั้งสิ้นนั้น
Krungthai COMPASS ระบุว่า การส่งออกเหล็กของไทยมีแนวโน้มได้รับ “ผลกระทบทางตรง” (ความเสี่ยงที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลง) มากกว่าอะลูมิเนียม ในรอบปี 2565-67 สหรัฐฯ มีการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจาก แคนาดา จีน และเม็กซิโกสูงสุดเป็น 3 อันดับแรก ซึ่งมีมูลค่ารวมปีละ 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 48.1% ของการนำเข้าทั้งหมด แบ่งเป็น แคนาดา 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (20.9%) จีน 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (15.9%) และเม็กซิโก 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (11.2%) ตามลำดับ
ส่วนการนำเข้าจากไทย อยู่ในอันดับที่ 11 โดยมีมูลค่าปีละ 2.3 พันดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 2% จากมูลค่านำเข้าทั้งหมด ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขที่อาจไม่ได้สูงนักหากเทียบกับประเทศอื่น แต่อย่างไรก็ดี เป็นข้อสังเกตว่าการส่งออกเหล็กของไทย มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงถึง 33.3% หรือราว 1 ใน 3 สูงกว่าการในกรณีของอะลูมิเนียมที่ 13.8% อย่างเห็นได้ชัด
“ดังนั้นจึงอาจสรุปเบื้องต้นได้ว่า การส่งออกเหล็กของไทย มีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางตรง จากมาตรการขึ้นภาษีในครั้งนี้ มากกว่ากลุ่มอะลูมิเนียม” บทวิเคราะห์ระบุ
จับตา “ผลกระทบทางอ้อม”
Krungthai COMPASS มองว่า หากการขึ้นภาษีนำเข้าดังกล่าวของสหรัฯ ส่งผลให้ประเทศผู้ส่งออกต่าง ๆ ต้องเร่งหาตลาดอื่นเพื่อทดแทนสหรัฐฯ (Trade Diversion) ในกรณีนี้ คาดว่าเหล็กและอะลูมิเนียมจากจีน ไต้หวัน และเวียดนาม มีโอกาสจะทะลักเข้าไทยมากที่สุด เนื่องจากทั้ง 3 ประเทศนี้ อยู่ในทำเลที่ไม่ไกลจากไทย อีกทั้งยังมีประสบการณ์การทำตลาดในไทยอยู่ก่อนแล้ว สะท้อนจากสัดส่วนการส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมมายังไทย ที่อยู่ในสัดส่วนราว 3.3% (เวียดนาม) 3.6% (ไต้หวัน) และ 4.1% (จีน)
“เราจึงมองว่า ไทยมีโอกาสเป็น 1 ในตลาดส่งออกที่ทั้ง 3 ประเทศ อาจเลือกเข้ามาดัมพ์สินค้าเพื่อทดแทนตลาดสหรัฐฯ ก็เป็นได้” บทวิเคราะห์ ระบุ
นอกจากสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในไทยแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องระวังการแข่งขันในตลาดส่งออกอื่น ๆ ที่อาจรุนแรงขึ้นจากการดัมพ์ราคาเพื่อระบายสินค้าของประเทศผู้ส่งออกอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดส่งออกหลักของผู้ประกอบการไทย อย่างกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งไทยมีสัดส่วนการส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียม อยู่ที่ราว 10%
เปิดมุมมองผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ผลิตไทย
ทั้งนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิต (CAP-U) โดยเฉพาะในกลุ่มเหล็ก จะถูกกดดันให้อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง จากการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ที่มีโอกาสทำได้ยากขึ้น ประกอบกับความเสี่ยงที่อาจถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดทั้งในไทย และตลาดส่งออกอื่นๆ จากเหล็กนำเข้าราคาถูก โดยเฉพาะจากจีนที่มีโอกาสหันมาตีตลาด Non-US เพื่อระบายสินค้ากันมากขึ้น
โดย ในปัจจุบัน CAP-U ของผู้ผลิตเหล็กไทยนั้น ถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่ราว 40-45% ต่อปี ลดลงจากในอดีตที่เคยอยู่ในกรอบ 50-60% อย่างเห็นได้ชัด
Krungthai COMPASS มองว่า ความเสี่ยงด้านการขาดทุนจากราคา (Stock Loss) อาจสูงขึ้น จากราคาเหล็กในปี 2568 ที่คาดว่าจะอยู่ในขาลง ตามแรงกดดันหลักจาก 1) แนวโน้มการดัมพ์ราคาเพื่อระบายสินค้าของผู้ส่งออกจากประเทศต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องหาตลาดส่งออกอื่น เพื่อทดแทนสหรัฐฯ 2) ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ซึ่งมีการใช้เหล็กถึง 1 ใน 3 ของทั้งประเทศยังมีแนวโน้มดำเนินต่อไป
“ปัจจัยเหล่านี้ จะคอยกดดันราคาเหล็กตลอดปี 2568 ผู้ประกอบการไทย จึงควรมีการบริหารจัดการสต็อกเหล็กให้ดี เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้าน Stock Loss” บทวิเคราะห์ ระบุ
สำหรับผลการดำเนินงานของธุรกิจเหล็กไทย ทั้งด้านรายได้ ความสามารถในการทำกำไร รวมถึงสภาพคล่อง อาจถูกซ้ำเติมให้แย่ลง จากใน 9M/67 ที่พบว่าเกิน 1 ใน 2 ของธุรกิจเหล็กไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กำลังเผชิญหน้ากับรายได้ที่หดตัวลง การมีผลประกอบการที่ขาดทุนสุทธิ ตลอดจนการส่งสัญญาณว่าอาจมีปัญหาด้านสภาพคล่องจากการมีวงจรเงินสดที่นานขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.พ. 68)
Tags: ภาษีนำเข้า, สหรัฐ, อะลูมิเนียม, เหล็ก