มองมุมต่าง: Co-location ความเร็วที่โบรกเกอร์ต้องมี เพื่อความเท่าเทียมของลูกค้า

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้บริการ Co-location สำหรับการติดตั้งเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเชื่อมต่อส่งคำสั่งซื้อ-ขาย รับบริการข้อมูลราคา และระบบ Back Office ทั้งในตลาดหุ้นและตลาด TFEX ภายใต้ศูนย์คอมพิวเตอร์เดียวกันกับระบบงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยรองรับการเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการหรือสมาชิกรายอื่น ๆ ตอบโจทย์รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายในปัจจุบัน

Co-location หรือบริการให้เช่าพื้นที่ร่วมภายใน Data center เป็นรูปแบบการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีปกติ ที่มีมานาน และให้บริการอย่างแพร่หลายในหลาย ๆ ตลาดหุ้นทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย ทาง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปิดให้บริการเช่าพื้นที่ Co-location มานานกว่า 10 ปี มีผู้ใช้บริการหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการข้อมูล บริษัทหลักทรัพย์ หรือกลุ่มลูกค้าที่มีกลยุทธ์การเทรดที่ไวและมีความถี่สูง (High Frenquency Trading)

ล่าสุด ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับบริการ Co-location เปิดให้ทุกโบรกมาเชื่อมต่อได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนของตลาดฯ เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการซื้อขาย โดยจะเริ่มในไตรมาส 2/68

*ประโยชน์และหลักการของ Co-location

การเชื่อมต่อ Co-location ทำให้ช่วยลดระยะทางสำหรับการสื่อสารระหว่างระบบ ทำให้มีประสิทธิภาพทางด้านความเร็ว สามารถรับข้อมูลและคำสั่งซื้อขายได้ทันท่วงที

ถึงแม้ว่าความเร็วอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ แต่ยังมีปัจจัยอื่นเชิงบวก ที่สนับสนุน ห้การเชื่อมต่อ Co-location เป็นตัวเลือกของผู้ประกอบการทั้งหลาย อาทิ

1. มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ทันสมัย มีเจ้าหน้าที่ดูแลระบบตลอด 24 ชม.

2. มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการควบคุมค่าความชื้นและอุณหภูมิให้คงที่ อยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง

3. มีแผนสำรองเมื่อเกิดเหตุการฉุกเฉิน

4. มีระบบนิเวศน์ทางด้านเทคโนโลยี ที่ทำให้การเชื่อมต่อ หรือการรวมศูนย์ของระบบงาน ดำเนินการได้ง่าย และมีประสิทธิภาพ

ข้อดีของการใช้ Co-location ทำให้ตลาดทุนไทย ยกระดับความสามารถให้มีบริการที่เทียบเท่ากับตลาดทุนชั้นนำทั่วโลก

แต่ก็น่าแปลกใจ เพราะที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการบางราย ,โบรกเกอร์บางแห่ง หรือ แม้แต่นักลงทุนบางกลุ่ม ออกมาต่อต้านการใช้ Co-location และมองว่าเป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุนรายอื่น โดยมองข้ามเรื่องที่โบรกเกอร์ที่ตนเองใช้บริการอยู่ไม่ยอมให้บริการการเชื่อมต่อ Co-location กับลูกค้า

การแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด คือการย้ายไปยังโบรกเกอร์ที่มีบริการ Co-location ให้กับลูกค้า เพราะการที่โบรกเกอร์ใดก็ตามที่ไม่ยอมเสียเงินลงทุนที่จะสร้างความเท่าเทียม หรือได้เปรียบให้กับลูกค้าของตนเอง ก็น่าจะพิจารณาตนเอง มากกว่าจะประดิษฐ์คำไปต่อว่า โบรกเกอร์ที่ไปเชื่อมต่อ Co-location เพื่อบริการลูกค้า “ว่าเอาเปรียบ” ชาวบ้าน แบบนี้ก็มีให้เห็นในบ้านเราในช่วงที่ผ่านมา

“แทนที่จะเรียกร้องกับโบรกเกอร์ที่ไม่ยอมเชื่อมต่อ Co-location แต่กลับไปกล่าวหาว่าโบรกเกอร์ที่เชื่อมต่อ Co-location เป็นพวกเอาเปรียบ ทั้งๆ ที่การเชื่อมต่อนี้ ควรจะเป็นหนึ่งในการให้บริการลูกค้าของบรรดาโบรกฯ เหมือนการมีฝ่ายวิจัยที่สร้างบทวิเคราะห์ออกมาเพื่อให้ข้อมูลเฉพาะลูกค้าภายในของโบรกฯเท่านั้น”

การปรับลดการเข้าถึงบริการ Co-location ครั้งนี้ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ โบรกเกอร์และผู้ลงทุนทุกรายสามารถเข้าถึงบริการได้ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

*บริการความเร็วของ Co-location เหมาะกับผู้ลงทุนบางกลุ่ม

ถึงแม้ Co-location จะเป็นช่องทางที่สามารถรับข้อมูลและส่งคำสั่งซื้อขายได้เร็วกว่า แต่ก็ไม่ได้เหมาะสำหรับผู้ลงทุนทุกคน

จากผลสำรวจพื้นที่ Co-location ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันมีบริษัทหลักทรัพย์ใช้บริการอยู่แล้วเพียง 10-15 รายเท่านั้น

ในขณะที่ อีก 20 กว่ารายใช้ช่องทางการเชื่อมต่อนอก Co-location และในจำนวน 20 รายนี้ จะมีเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้นที่อาจจะสนใจเข้าไปใช้พื้นที่ Co-location ตามมาตราการส่งเสริมของตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีหลายบริษัทหลักทรัพย์ที่มองว่ามาตรการนี้เป็นการเพิ่มงาน และเพิ่มต้นทุน เพราะไม่ได้มีความต้องการที่จะย้ายไป Co-location อยู่แล้ว ประกอบกับ ลูกค้าของตนเองก็ไม่มีความจำเป็นต้องการความเร็วขนาดนั้น

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ความเร็วไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทุกคนต้องการ นักลงทุนแต่ละกลุ่ม แนวทางการลงทุน ความเข้าใจและความสามารถทางด้านเทคโนโลยี มีความแตกต่างกันไป

โดยผู้ลงทุนแต่ละกลุ่ม ก็จะมีแนวทางการลงทุนที่ไม่เหมือนกัน ทั้งในแง่ของ หน้าตักของเม็ดเงินลงทุน , การเข้าถึงเครื่องมือทางการเงิน , การกระจายความเสี่ยง ,ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนตราสารประเภทต่างๆ รวมถึงการจัดสรร เงินลงทุนเพื่อ ทำ Arbitrage เป็นต้น

– ผู้ลงทุนรายย่อย ไม่ได้แข่งขัน กับผู้ลงทุนสถาบัน

– ผู้ลงทุนสถาบัน ไม่ได้แข่งขัน กับ Robot (HFT)

– HFT เองก็ไม่ได้แข่งขัน กับ ผู้ลงทุนรายย่อยเช่นกัน

โดยผู้ลงทุนภายในแต่ละกลุ่ม ที่มีกลยุทธ์การลงทุนคล้ายคลึงกันต่างหาก จะเป็นผู้แข่งขันกันเอง

ผู้ลงทุนที่ใช้ความเร็วจาก Co-location ก็สามารถพบกับความเสียหายได้เช่นกัน

*”ความเร็ว” ไม่ใช่สูตรสำเร็จว่าจะสร้างกำไรได้ทุกครั้ง

ในส่วนของ “ความเร็วที่ช้าลง” ก็ไม่ได้การันตีว่า จะต้องเสียหาย หรือ เจ๊ง ขาดทุน ในทางกลับกัน ที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่ไปไหนมานาน 2 ปีแล้ว การมีความเร็วอาจกลายเป็น “ดาบสองคม” ที่มากระตุ้นทำให้พอร์ตการลงทุนเสียหายเร็วขึ้น

ข้อสำคัญ “ความเร็วไม่เหมาะกับตลาดหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำ” ตลาดหุ้นที่สามารถเคาะขวา (Offer) ได้ แต่เวลาจะขายออก หรือโยนซ้าย (Bid) ไม่มีใครมารับของ ความเร็วที่ว่าก็จะไร้ความหมายไปทันที

ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดมากกว่า “ความเร็ว” ที่ได้จาก Co-location คือ “การเลือกหุ้นลงทุนให้ถูกตัว และอยู่ทนกับมันให้ได้ แม้ในช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน หรือไม่แน่นอน

แต่พื้นฐานหุ้นที่เราเลือก ต้องแน่นอน และไม่ผิด จากนั้นรอจนถึงวันที่ผลประกอบการกับราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปพร้อม ๆ กัน นั่นคือ สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการลงทุนให้ประสบความสำเร็จ

ธิติ ภัทรยลรดี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.พ. 68)

Tags: , ,
Back to Top