นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี 2 เดือนใน 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ถือว่าได้ผลตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี สะท้อนได้จากข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาที่มีสถิติการมีผู้ใช้บริการสูงที่สุด (นิวไฮ) ตั้งแต่เปิดให้บริการ
ปริมาณผู้โดยสาร เดือนธ.ค. เพิ่มต่อเนื่อง
– รถไฟฟ้าสายสีแดง มีปริมาณผู้โดยสาร 1,027,458 คน เพิ่มขึ้น 24.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
– รถไฟฟ้าสายสีม่วง มีปริมาณผู้โดยสาร 2,026,981 คน เพิ่มขึ้น 4.89% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยทั้ง 2 สายดังกล่าว มีปริมาณผู้โดยสารรวม 3,054,439 คน เพิ่มขึ้น 10.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ผู้โดยสารเพิ่มดันรายได้โต จ่อยกเลิกชดเชยรายได้-แก้สัญญาสัมปทาน
ขณะที่รายได้จากการดำเนินนโยบายฯ (ข้อมูล ณ ธ.ค.67) โดยทั้ง 2 สายดังกล่าวมีรายได้รวมกันอยู่ที่ 49.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น
– รถไฟฟ้าสายสีแดง ก่อนดำเนินนโยบายฯ มีรายได้ 15.97 ล้านบาท เมื่อดำเนินนโยบายฯ แล้ว มีรายได้ 20.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 4.07 ล้านบาท
– รถไฟฟ้าสายสีม่วง ก่อนดำเนินนโยบายฯ มีรายได้ 28.48 ล้านบาท เมื่อดำเนินนโยบายฯ แล้ว มีรายได้ 29.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.39 ล้านบาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวว่า เมื่อมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นแล้ว คาดว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายสีแดง จะมีรายได้เท่ากับหรือมากกว่าช่วงก่อนเริ่มนโยบายภายในปี 2568 หรือเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ จากเดิมที่คาดว่าภายในระยะ 2 ปี 7 เดือนหลังจากเริ่มนโยบาย ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐอาจจะไม่ต้องชดเชยส่วนต่างรายได้ให้กับทั้ง 2 โครงการดังกล่าวแล้ว
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการแก้ไขสัญญาสัมปทานโดยต้องมีการเจรจาแบ่งผลประโยชน์กับเอกชนใหม่ เพื่อเป็นประโยชน์กับภาครัฐ เพราะการที่รถไฟฟ้ามีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้เอกชนผู้ให้บริการได้รับรายได้เพิ่มขึ้นไปด้วย
ในส่วนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รายงานว่า ได้จัดทำแผนการขับเคลื่อนนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดเส้นทาง ในส่วนรถไฟฟ้าภายใต้การกำกับของ รฟม. ซึ่งกระบวนการในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนจะต้องดำเนินตามมาตรา 46-48 ของ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ดังนี้
1. แผนการดำเนินงาน กรณีแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโดยการแก้ไขสัญญามีหลักการแตกต่างจากหลักการและเงื่อนไขสำคัญของโครงการร่วมลงทุน
2. แผนการดำเนินงาน กรณีแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโดยหลักการและเงื่อนไขสำคัญของโครงการร่วมลงทุนคงเดิม
3. แผนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วม EMV ในรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู เพื่อพัฒนาระบบให้รองรับการใช้บัตร EMV Contactless ได้ในทุกประตูอัตโนมัติของทุกสถานี
“ตอนนี้ ทางกระทรวงคมนาคมและรฟม.จะต้องทำหนังสือสอบถามสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรณีที่เอกชนมีรายได้เพิ่มสามารถแก้ไขสัญญาได้อย่างไร”
หลังจากมีความชัดเจนเรื่องแก้ไขสัญญา ต่อไปรฟม. จะเข้าเจรจากับภาคเอกชนที่ได้รับสัมปทาน เพื่อแก้ไขสัญญาสัมปทานต่อไป หลังจากนั้นจะเสนอคณะกรรมการ รฟม.(บอร์ด) พิจารณา และภายในเดือนส.ค. 68 จะเสนอเข้า คณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบ หลังจากนั้น รฟม. จะดำเนินการลงนามแก้ไขสัญญาฯ ดังนั้นกระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จทั้งหมด ก่อนที่มาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะเริ่มภายในช่วงเดือนก.ย.68 เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
ด้านนายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ รฟม. (ปฏิบัติการ) รักษาการผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า รฟม.มีสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า 3 โครงการ คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีชมพู สายสีเหลือง เป็น สัญญาร่วมลงทุน PPP Net Cost ที่เอกชนรับความเสี่ยงเรื่องรายได้ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มและส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นไปด้วย ทำให้ความเสี่ยงของเอกชนลดลง ดังนั้นรัฐควรได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์เพิ่มขึ้นจากที่เอกชนได้รับเพิ่มเช่นกัน จึงต้องมีการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทาน
“หลักการแก้ไขสัญญาสัมปทาน จะไม่มีประเด็นการขยายระยะเวลาสัญญา และรูปแบบการร่วมลงทุนเป็น PPP Net Cost เหมือนเดิม แต่เป็นเรื่องการเจรจาเรื่องแบ่งผลประโยชน์ กรณีที่เอกชนได้ประโยชน์ก็ต้องแบ่งให้รัฐมากขึ้น ซึ่สัญญาสัมปทานมีหลายข้อ เช่น กำหนดอัตราค่าโดยสารที่ 14 บาท – 45 บาท และปรับขึ้นทุก 5 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค เมื่อมีนโยบาย 20 บาทตลอดสาย ตรงนี้ก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว หรือบางสัญญามีการแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐ เช่น สัญญา สายน้ำเงินระหว่างรฟม.กับบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) นั้น รฟม.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่ 15% ส่วนสีชมพู สีเหลืองตามเงื่อนไข จำนวนผู้โดยสารตอนนี้ยังไม่ถึงที่เอกชนจะแบ่งรายได้ให้รฟม.”
เดินหน้าทุกสาย 20 บาทก.ย.นี้
นายสุริยะ ยืนยันว่า จะประกาศใช้ในโครงการรถไฟฟ้าทุกสี ทุกสาย และทุกเส้นทางภายในเดือนกันยายน 2568 ตามที่เคยกำหนดไว้ ภายใต้การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ผ่านการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการ โดยคาดว่า จะประกาศราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปี 2568 และเสนอประกาศกฎหมายลำดับรองภายในเดือนกันยายน 2568 อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า เมื่อนโยบายนี้ ครอบคลุมในทุกเส้นทาง จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างแน่นอน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.พ. 68)