![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2023/10/20231011_Canva_พลังงาน-1024x576.png)
การ์ติกา วิรโยอัตโมโจ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจแห่งอินโดนีเซีย แถลงวันนี้ (11 ก.พ.) ว่า อินโดนีเซียตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในแผนการผลิตไฟฟ้าสำหรับช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยจะมุ่งเน้นการเพิ่มกำลังการผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ
แผนฉบับใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า “RUPTL” จะมาแทนที่แผน RUPTL ปี 2564-2573 ซึ่งตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ 40.6 กิกะวัตต์ โดย 52% เป็นพลังงานหมุนเวียน
การ์ติกากล่าวว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างหารือแผนฉบับใหม่กับการไฟฟ้า หรือ Perusahaan Listrik Negara (PLN) โดย 70% ของกำลังการผลิตใหม่รวม 71 กิกะวัตต์นั้น จะมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน
“แผนนี้จะช่วยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจากราว 12% เป็นประมาณ 35% ในปี 2577” การ์ติกากล่าวในที่ประชุมธุรกิจที่กรุงจาการ์ตา
อินโดนีเซียตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ 17 กิกะวัตต์ (พร้อมระบบแบตเตอรี่) พลังงานน้ำ 16 กิกะวัตต์ พลังงานความร้อนใต้พิภพ 5 กิกะวัตต์ รวมถึงพลังงานลมและพลังงานชีวภาพ
ขณะที่คาดว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินใหม่จนถึงปี 2577 จะอยู่ที่ราว 5 กิกะวัตต์ ส่วนไฟฟ้าจากก๊าซจะอยู่ที่ 15 กิกะวัตต์ในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าพื้นฐานบนเกาะชวาโดยเฉพาะ
อนึ่ง อินโดนีเซียประกาศระงับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเติมตั้งแต่ปี 2565 โดยจะอนุญาตเฉพาะโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ และโครงการที่เชื่อมโยงกับการแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้ โครงการเหล่านั้นต้องมีแผนลดการปล่อยมลพิษด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 68)
Tags: ผลิตไฟฟ้า, พลังงาน, พลังงานหมุนเวียน, อินโดนีเซีย, ไฟฟ้า