![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2025/02/0709BCE58B8D988C07BFD12D0713159B.png)
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC เดินหน้าผลักดันการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกครอบคลุม 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ที่มุ่งเป้าอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ กลุ่มอุตสากรรมการแพทย์ครบวงจร กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และกลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวกับ BCG ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
โดยในปี 66-67 เริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนทยอยเข้ามาในพื้นที่ EEC ซึ่งในช่วง 2 ปีนี้ นักลงทุนจากจีนเข้ามาลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่งแซงหน้านักลงทุนญี่ปุ่นแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากการรองรับความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาตร์ ที่ทำให้จีนต้องย้ายการลงทุนมาที่ไทย
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สกพอ.เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า EEC ได้ตั้งเป้าหมาย 5 ปี (ปี 66-70) ที่จะมีเม็ดเงินลงทุนจริง 5 แสนล้านบาท หรือปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยวางเป้าหมายหานักลงทุนเพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาปีละ 1.5 แสนล้านบาทเพื่อลงทุนจริง 1 แสนล้านบาท
“การที่จีดีพีของประเทศจะโต มันโตที่เม็ดเงินลงทุนที่ลงทุนจริง ไม่ใช่เงินลงทุนที่ออกโดยบีโอไอ หรือเซ็นลงทุน”
ในปี 66 มีการลงทุนจริง 106,000 ล้านบาท และในปี 68 EEC ก็เร่งเครื่องเดินหน้าดึงเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศเข้ามาตาม 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ล่าสุดมีนักลงทุนที่เตรียมจะเซ็นสัญญาเข้ามาลงทุนใน EEC จำนวน 12 ราย รวมเป็นมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ที่เป็นกิจการในอุตสาหกรรม BCG , อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มโลจิสติกส์
ในปีนี้ EEC ได้เร่งแผนที่จะให้มีการขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่ EEC เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ใบอนุญาตตั้งแต่เริ่มก่อสร้างอาคารโรงงาน การออกใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการได้ และอื่นๆ เป็น One Stop Service เพื่อเร่งให้เกิดการลงทุนได้เร็ว
ขณะที่งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่ EEC ปัจจุบันได้เริ่มเห็นความคืบหน้าแล้วใน 2 โครงการ จากที่ล่าช้าไป 6 ปี ได้แก่
- โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเอกชน ได้แก้ไขสัญญาแล้ว รอส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดอีอีซีอีกครั้ง แล้วส่งไปคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติ ซึ่งกระบวนการดำเนินการน่าจะเสร็จภายในเดือนเม.ย.-พ.ค.68 โดยเมื่อเซ็นสัญญาแก้ไขแล้ว จะออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้างในดือนมิ.ย.นี้
- โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก เอกชนเตรียมเริ่มโครงการในไตรมาส 2/68 โดยทั้งสองโครงการดังกล่าวจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 72
“พอมีรถไฟความเร็วสูง มีผลต่อด้านจิตวิทยาเยอะ เพราะไม่ได้เริ่มก่อสร้างซะทีตั้งแต่ปี 62 นี่ก็จะ 6 ปี ก็จะได้เริ่มก่อสร้าง และก็จะมีโมเมมตัมขับเคลื่อนอีกพอสมควร ตัวเลขน่าจะดีขึ้น” นายจุฬา กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ที่ดำเนินโครงการได้ตามแผน
ทั้งนี้โครงสร้างพื้นฐานใน EEC จะช่วยส่งเสริมการเติบโตในอนาคตของ EEC ที่จะเป็นประตูเข้าออกในพื้นที่ EEC ได้ง่ายขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.พ. 68)
Tags: EEC, INTERVIEW, SCOOP, จุฬา สุขมานพ, สกพอ., สนามบิน, อุตสาหกรรม, เศรษฐกิจไทย, ไฮสปีดเทรน