![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2022/07/20220720_canva_Switzerland_สวิตเซอร์แลนด์-1024x576.png)
ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในสวิตเซอร์แลนด์ปฏิเสธแผนการควบคุมการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดในการลงประชามติเมื่อวันอาทิตย์ (9 ก.พ.) เนื่องจากเกรงว่าข้อเรียกร้องที่ให้มีการปกป้องสภาพอากาศมากขึ้นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ข้อมูลจากรัฐบาลเผยว่า โครงการริเริ่มด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Responsibility Initiative) ซึ่งเสนอโดยกลุ่มเยาวชนของพรรคกรีน (Young Greens) ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเพียง 30% เท่านั้น
ทั้งนี้ หนึ่งในข้อเรียกร้องของแผนดังกล่าวคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการบริโภคลงมาอยู่ที่ 10% ของระดับในปี 2561 ภายในเวลา 10 ปีข้างหน้า โดยกลุ่มเยาวชนของพรรคกรีนยืนยันว่า ขั้นตอนดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาการบริโภคของชาวสวิสให้อยู่ในระดับที่โลกใบนี้สามารถรองรับได้
ผลสำรวจก่อนการลงประชามติชี้ว่า ผลการลงคะแนนจะออกมาเป็นเช่นนี้ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มองว่า มาตรการดังกล่าวสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากเกินไป โดยผลสำรวจพบว่า ประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับงานและการสูญเสียความเจริญก้าวหน้า และหวั่นวิตกเกี่ยวกับความเสียเปรียบด้านการแข่งขันของบริษัทสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีแผนงานด้านความกลางทางสภาพภูมิอากาศ (climate neutral) ภายในปี 2593 อยู่แล้ว
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า แผนการดังกล่าวเป็นหนึ่งในประเด็นการลงประชามติที่เสนอโดยกลุ่มเยาวชนของพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงข้อเสนอของกลุ่มเยาวชนพรรคสังคมนิยม (Young Socialists) ที่ต้องการให้กำหนดเพดานเงินเดือนของฝ่ายบริหารอย่างเข้มงวด และข้อเสนอยกเลิกอายุเกษียณของกลุ่มเยาวชนเสรีนิยม (Young Liberals)
ทั้งนี้ ระบอบประชาธิปไตยโดยตรงของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งประชาชนสามารถลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับนโยบายได้มากถึงปีละสี่ครั้ง ทำให้บรรดานักการเมืองรุ่นใหม่มีอิทธิพลมากกว่าที่อื่น ๆ โดยศาสตราจารย์สเตฟาน เล็กเก จากมหาวิทยาลัยเซนต์กัลเลน กล่าวว่า แม้ข้อเสนอต่าง ๆ อาจถูกปฏิเสธในการลงประชามติ แต่ประเด็นเหล่านี้ก็เปิดโอกาสให้เกิดการถกเถียงในสังคม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.พ. 68)
Tags: มลพิษ, สวิตเซอร์แลนด์