![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2024/08/20240819_Canva_Japan_shop-1024x576.png)
ร้าน 7-Eleven สาขาในจังหวัดชิบะ ชานเมืองโตเกียว มีความพิเศษไม่เหมือนร้านเซเว่นอีก 21,000 สาขาทั่วญี่ปุ่น ด้วยพื้นที่ร้านที่ใหญ่กว่าเกือบสองเท่า และสินค้าที่มีให้เลือกมากกว่าสองเท่า ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอ่อน เครื่องสำอางแบรนด์ฮิต รวมถึงอาหารต่าง ๆ อย่างขนมปังแช่แข็ง
บริษัทเซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิ้งส์ โฮลดิงส์ (Seven & i Holdings) เปิดร้านนี้เมื่อปีที่แล้ว โดยตั้งใจให้เป็นร้านต้นแบบในการทดลองผสานจุดแข็งระหว่างซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือกับธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่ทำผลงานได้ดีกว่า พร้อมทั้งสำรวจว่าลูกค้าจะตอบรับร้านแนวใหม่ที่รวมข้อดีของทั้งสองรูปแบบเข้าด้วยกันอย่างไร
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานในวันนี้ (10 ก.พ.) ว่า ในช่วงแรก ทั้งยอดขายรายเดือนและจำนวนลูกค้าพุ่งสูงขึ้นกว่า 20% ตามที่บริษัทเปิดเผย และถึงแม้จะมีซูเปอร์มาร์เก็ตคู่แข่งมาเปิดตรงข้าม รายได้ก็ยังเติบโตที่ 10% จนถึงเดือนก.ย. อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าจะรักษาผลงานระดับนี้ไว้ได้หรือไม่ และตอนนี้ทางเซเว่น แอนด์ ไอ ก็ยังไม่มีแผนที่จะขยายร้านในรูปแบบนี้เพิ่มเติม
เคซูเกะ ยามากูจิ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจในอนาคตของเซเว่น อีเลฟเว่น ญี่ปุ่น เผยว่า แม้จะมีการนำแนวคิดบางอย่างไปใช้ในสาขาอื่นแล้ว อย่างเช่น การจัดวางขนมปังและชาไว้ใกล้เคาน์เตอร์คิดเงิน แต่ทางบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเพิ่มสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ตในสาขาอื่น ๆ หรือไม่
ความพยายามที่จะผนึกกำลังระหว่างสองธุรกิจนี้ดูจะถูกลดความสำคัญลง เนื่องจากบริษัทกำลังเผชิญแรงกดดันที่จะต้องสร้างผลกำไรจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อให้มากขึ้น
บริษัทอาลีมองตาซิยง คูช-ตาร์ (Alimentation Couche-Tard Inc.) ผู้บริหารร้านเซอร์เคิล เค (Circle K) ได้ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการมูลค่า 7.2 ล้านล้านเยน ขณะที่ทางตระกูลอิโตะ ผู้ก่อตั้งเซเว่น แอนด์ ไอ ก็กำลังรวบรวมทีมผู้บริหารเพื่อยื่นข้อเสนอซื้อกิจการแข่งอีกทาง
ขณะเดียวกัน ริวอิจิ อิซากะ ซีอีโอของเซเว่น แอนด์ ไอ ก็ได้เริ่มปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยจะแยกธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตและค้าปลีกดั้งเดิมของเซเว่น แอนด์ ไอ ออกมา
ซาโตชิ ทานากะ นักวิเคราะห์จาก SBI Securities Co. กล่าวว่า “ในเมื่อบริษัทให้ความสำคัญกับการเติบโตเป็นอันดับแรก ก็ยากที่จะบอกว่าจะสามารถทุ่มเททรัพยากรและความพยายามในการสร้างความร่วมมือระหว่างธุรกิจทั้งสองได้มากแค่ไหน”
ทั้งนี้ อิโตะ-โยกาโดะ (Ito-Yokado) ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตของเซเว่น แอนด์ ไอ กำลังทยอยปิดสาขาลง ทำให้สู้กับเชนซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ไม่ไหว แม้ว่าตอนนี้บริษัทจะวางแผนแยกธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตและค้าปลีกออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ชื่อ ยอร์ก โฮลดิงส์ (York Holdings) และจะดึงพันธมิตรนักลงทุนเข้ามา แต่เซเว่น แอนด์ ไอ ก็ยังอยากจะถือหุ้นในธุรกิจนี้อยู่
ในช่วงทศวรรษ 2510 เซเว่น แอนด์ ไอ ได้นำธุรกิจร้านสะดวกซื้อเข้ามาในญี่ปุ่น และพัฒนาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น ปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจหลักของบริษัท ทำให้นักลงทุนอยากให้แยกธุรกิจนี้ออกจากส่วนอื่น ๆ เพื่อจะได้มุ่งขยายธุรกิจในตลาดโลกได้เต็มที่
ฮิโรอากิ วาตานาเบะ นักวิเคราะห์ด้านผู้บริโภคมองว่า ธุรกิจอิโตะ-โยกาโดะแบบเดิม ๆ มีอิทธิพลต่อธุรกิจร้านสะดวกซื้อได้ไม่มากนัก “ถ้าพูดถึงอำนาจต่อรองในการสั่งซื้อ มันต่างกันลิบลับระหว่างร้านสะดวกซื้อที่มีกว่า 20,000 สาขา กับร้านอิโตะ-โยกาโดะที่มีแค่ไม่ถึง 100 สาขา”
วาตานาเบะมองว่า ร้านต้นแบบนี้ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ นอกจากแค่เอาร้านสองแบบมารวมกันเท่านั้น “แทนที่จะเป็นการผสมผสานองค์ความรู้เข้าด้วยกัน กลับเป็นแค่การแบ่งพื้นที่เป็นโซนร้านสะดวกซื้อกับโซนซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่ภายในร้านเท่านั้น”
ซีอีโออิซากะเชื่อมั่นว่า ความเชี่ยวชาญด้านอาหารของเซเว่น แอนด์ ไอ จะเป็นกุญแจสำคัญในการ “ขยายธุรกิจสู่ระดับโลก” และทำให้บรรลุเป้ายอดขาย 30 ล้านล้านเยนภายในปี 2573 ซึ่งซีอีโอมองว่า ประสบการณ์จากธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตมีความสำคัญมากในเรื่องนี้
บลูมเบิร์กรายงานว่า แม้เซเว่น แอนด์ ไอ จะโฆษณาร้านไฮบริดแห่งนี้ว่าเป็น “ร้านที่ซื้อได้ครบจบในที่เดียว” (one-stop shopping) แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ผลเท่าใดนัก เห็นได้จากลูกค้าหญิงคนหนึ่งที่บอกว่าชอบที่สามารถซื้อของสดของแห้งได้ครบในที่เดียว แต่สุดท้ายเธอก็ยังเดินข้ามถนนไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าคู่แข่งอยู่ดี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.พ. 68)
Tags: 7-ELEVEN, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ญี่ปุ่น, ร้านสะดวกซื้อ