![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2024/03/20240325_CANVA_News-1024x576.png)
กลุ่มประเทศบอลติก ได้แก่ เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย เสร็จสิ้นการเปลี่ยนระบบจ่ายไฟฟ้าจากโครงข่ายของรัสเซียมาเป็นระบบของสหภาพยุโรป (EU) เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (9 ก.พ.) ถือเป็นการตัดความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต ท่ามกลางสถานการณ์ความมั่นคงที่ตึงเครียดขึ้น หลังเกิดเหตุต้องสงสัยว่ามีการก่อวินาศกรรมสายเคเบิลและท่อส่งใต้ทะเลหลายแห่ง
เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กล่าวยกย่องการดำเนินการครั้งนี้ ซึ่งมีการวางแผนมานานหลายปี ว่าเป็นจุดเริ่มต้นยุคใหม่แห่งอิสรภาพของภูมิภาค
“สายส่งไฟฟ้าที่เชื่อมโยงพวกคุณกับประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่เป็นมิตรจะกลายเป็นเรื่องในอดีต” ฟอน เดอร์ เลเยน กล่าวในระหว่างเข้าร่วมพิธีกับผู้นำของทั้งสามประเทศและประธานาธิบดีโปแลนด์ ณ กรุงวิลนีอัส เมืองหลวงของลิทัวเนีย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การเปลี่ยนจากโครงข่ายไฟฟ้าของอดีตผู้ปกครองในยุคจักรวรรดิโซเวียตอันซับซ้อนนี้ เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาหลายปี แต่มีความคืบหน้าอย่างรวดเร็วหลังจากการผนวกไครเมียของรัสเซียในปี 2557 และการรุกรานยูเครนในปี 2565
การเปลี่ยนแปลงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มประเทศบอลติกมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ EU มากขึ้น และเพื่อยกระดับความมั่นคงทางพลังงานของภูมิภาค
“นี่คืออิสรภาพ อิสรภาพจากภัยคุกคาม อิสรภาพจากการถูกแบล็กเมล” ฟอน เดอร์ เลเยน กล่าว พร้อมเสริมว่า ทวีปยุโรปโดยรวมก็กำลังปลดแอกตัวเองจากการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติของรัสเซียเช่นกัน
โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ยูเครนดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้ไปแล้วในปี 2565 “และกลุ่มประเทศบอลติกก็กำลังขจัดภาระในการพึ่งพานี้เช่นกัน”
“มอสโกจะไม่สามารถใช้พลังงานเป็นอาวุธต่อกลุ่มประเทศบอลติกได้อีกต่อไป”
รายงานข่าวระบุว่า กลุ่มประเทศบอลติกได้ตัดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงข้ามพรมแดนทางตะวันออกของลัตเวีย ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนรัสเซียประมาณ 100 เมตร และได้แจกชิ้นส่วนสายไฟที่ถูกตัดให้กับผู้ที่สนใจเก็บไว้เป็นที่ระลึก หลังจากเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (8 ก.พ.) ทางกลุ่มได้ตัดการเชื่อมต่อจากเครือข่าย IPS/UPS ซึ่งก่อตั้งขึ้นในสมัยสหภาพโซเวียตเมื่อช่วงทศวรรษ 1950 และปัจจุบันบริหารจัดการโดยรัสเซีย
ทั้งนี้ ภูมิภาคทะเลบอลติกอยู่ในภาวะเฝ้าระวังขั้นสูงสุด หลังจากเกิดเหตุขัดข้องกับสายไฟฟ้า สายโทรคมนาคม และท่อส่งก๊าซระหว่างกลุ่มประเทศบอลติกกับสวีเดนหรือฟินแลนด์ ซึ่งเชื่อกันว่าเกิดจากการที่เรือลากสมอไปตามพื้นทะเลหลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน อย่างไรก็ตาม รัสเซียปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.พ. 68)
Tags: กลุ่มประเทศบอลติก, รัสเซีย