นักวิชาการชี้สงครามการค้าทำศก.โลกปั่นป่วน จับตากระทบไทย 5 ช่องทาง

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงิน และการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า สงครามการค้าฉากแรกสร้างความไม่แน่นอนต่อระบบการค้าโลกแต่ยังไม่รุนแรง เป็นการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเพื่อสร้างอำนาจต่อรองแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ที่นำเข้าจากประเทศคู่ค้าหลัก 3 ประเทศ คือ แคนาดา เม็กซิโก และจีนที่ประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี การปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 10% นำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก 25% ทำให้สหรัฐฯ ลดการนำเข้าจากสามประเทศคู่ค้าหลักประมาณ 15% ทำให้การขาดดุลการค้าอาจดีขึ้นทันทีในระยะสั้น และสามารถเพิ่มรายได้จากภาษีศุลกากรทันทีขั้นต่ำ 1 แสนล้านดอลลาร์ จากการประเมินของ Tax Foundation ของสหรัฐฯ ระบุว่า หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีต่อจีน 10% แคนาดาและเม็กซิโก 25% เป็นการถาวรและไม่มีการตอบโต้จะทำให้รายได้ภาษีเพิ่มขึ้นถึง 9.63 แสนล้านดอลลาร์ ถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2568-2577 คิดเป็นภาษีเพิ่มขึ้น 800 ดอลลาร์ต่อครัวเรือน และทำให้จีดีพีในระยะยาวปรับตัวลดลง -0.4%

การปรับขึ้นภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนของรัฐบาลทรัมป์ในสมัยแรกและต่อเนื่องมายังสมัยรัฐบาลไบเดน ดุลการค้าของสหรัฐฯ ไม่ได้ดีขึ้นนัก แม้สหรัฐฯ ลดการนำเข้าสินค้าจีนที่ถูกตั้งกำแพงภาษี แต่สหรัฐฯ นำเข้าเพิ่มขึ้นในสินค้าประเภทเดียวกันจากประเทศอื่นทดแทน อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราภาษีศุลากรกรต่อประเทศสมาชิกเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ อย่างเม็กซิโกและแคนดาจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของเม็กซิโก แคนาดา และสหรัฐฯ เอง จากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและเป็นห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน ธุรกิจอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมอาหาร กระทบรุนแรงต่อการจ้างงานโดยรวมระยะปานกลางและระยะยาว กระทบต่อค่าครองชีพและทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงได้ ต้นทุนการผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นคันละ 3,000 ดอลลาร์ทุก ๆ การผลิตรถยนต์หนึ่งคัน เม็กซิโกส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารจำนวนมากมายังสหรัฐฯ พืชผักผลไม้มากกว่า 60% ที่สหรัฐฯ บริโภคนำเข้าจากเม็กซิโก จะทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นได้

ความเป็นไปได้จริง ๆ ของการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าต่อสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาถึง 25% ครั้งเดียวจึงมีความเป็นไปได้ไม่มากนักหลังจากที่มีการทบทวนยืดเวลาการขึ้นภาษีไปหนึ่งเดือน กำแพงภาษีนำเข้าจะกระทบต่อเศรษฐกิจเม็กซิโกและแคนาดารุนแรงกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มที่สองประเทศน่าจะทำตามข้อต่อรองสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นภาษี เนื่องจากแคนาดาและเม็กซิโกมีสัดส่วนมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯเทียบกับมูลค่าส่งออกทั้งหมดอยู่ที่ 78% และ 80% ตามลำดับ ขณะที่สหรัฐฯ นำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกประมาณ 14-15% เท่านั้น เป็นไปได้สูงที่เม็กซิโกและแคนาดาจะเลือกเจรจากับสหรัฐฯ มากกว่าตอบโต้ทางการค้าแบบจีน ทำให้อำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สูงมากกรณีของแคนาดาและเม็กซิโก

สถานการณ์แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกรณีของจีน โดยจีนลดการพึ่งพิงตลาดส่งออกสหรัฐฯ มากขึ้นตามลำดับจนปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 15% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดเท่านั้น โดยสัดส่วนมูลค่าส่งออกของสินค้าจีนต่อมูลค่าส่งออกของการค้าโลกยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จีนได้ขยายฐานในตลาดอื่น ๆ ทั้งในละตินอเมริกา เอเชีย และแอฟริกา ทดแทนตลาดสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง

หากสงครามการค้าขยายวงและมีการตอบโต้กันด้วยกำแพงภาษีนำเข้าและมาตรการอื่น ๆ ทาง DEIIT เห็นสอดคล้องกับการประเมินตัวเลขผลประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยมีสมมติฐานว่าหากสหรัฐฯ จีน และยุโรป เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกันที่ 10% และสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าจากประเทศอื่นอีก 10% จะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลง 0.4% ในปี 2568 และ 0.6% ในปี 2569 WTO ต้องมีบทบาทนำป้องกันการขยายวงของความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ และต้องนำเรื่องการฟ้องร้องของจีนเข้าสู่การพิจารณาและไต่สวนทันที หากสหรัฐฯ เพิ่มอัตราภาษีนำเข้ามากกว่า 30% ขึ้นไปจากระดับปัจจุบันอาจทำให้เศรษฐกิจจีนอัตราการขยายตัวของจีดีพีชะลอตัวได้มากกว่า 0.4-0.5%

ความขัดแย้งทางการค้าในระดับโลกจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 5 ช่องทาง คือ การส่งออก การลงทุน ภาคการผลิตและการจ้างงาน การท่องเที่ยว ระดับราคาและเงินเฟ้อ แต่ผลกระทบมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นอยู่กับกำแพงภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้าที่ถูกนำมาใช้จริง ขึ้นอยู่กับการตอบโต้และการปรับตัวของประเทศคู่ค้า หากสงครามทางการค้านำไปสู่มูลค่าการค้าโลกทรุดกว่า 50% ขึ้นไปอาจนำไปสู่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก New Global Great Depression ได้ ความเสี่ยงนี้แม้ยังมีความเป็นไปได้ต่ำแต่ไม่ควรประมาท เพราะหากปล่อยให้เกิดขึ้นเช่นในอดีตแล้ว สงครามเศรษฐกิจและความขัดแย้งทางการค้าจะนำไปสู่ “วิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่” อันเป็นการสร้างเงื่อนไขให้ “กลุ่มสุดโต่งทางการเมืองและลัทธิชาตินิยมสุดขั้ว” เข้าสู่อำนาจทางการเมืองและนำไปสู่ภาวะสงครามได้ เฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้น วิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกช่วงต้นทศวรรษ 1930 นำไปสู่การขึ้นสู่อำนาจของพรรคนาซีในเยอรมัน และพรรคฟาสซิสต์ในอิตาลี รวมทั้งการขึ้นสู่อำนาจของเผด็จการทหารในหลายประเทศนำไปสู่สงครามครั้งที่สองในที่สุด

สถานการณ์การชนะเลือกตั้งคราวนี้ของโดนัล ทรัมป์มีบางอย่างคล้ายสถานการณ์ตอนประธานาธิบดีฮูเวอร์ชนะเลือกตั้งช่วงวิกฤติเศรษฐกิจกตกต่ำเริ่มก่อตัว มีการเรียกร้องของกลุ่มผลประโยชน์ให้รัฐบาลเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรปที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการจ้างงานในสหรัฐฯ ในยุคสมัยของประธานาธิบดีฮูเวอร์ ในปี 2473 รัฐสภาผ่านรัฐบัญญัติพิกัดอัตราภาษีศุลกากรฮอว์ลีย์-สมูต อันเป็นรัฐบัญญัติที่เรียกเก็บภาษีสินค้าขาเข้าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ มีสินค้า 20,000 รายการถูกปรับขึ้นภาษีเป็น 60% มีการตอบโต้โดยประเทศยุโรปปรับภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เพิ่มอีก 30-40% นำไปสู่ภาวะซบเซาทางการค้าระหว่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจทั้งสหรัฐฯ และยุโรปได้รับผลกระทบ มีสถานการณ์บางอย่างคล้ายกันอีกคือมีการยื่นขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการปรับขึ้นภาษีโดยนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก ทั้งในสมัยรัฐบาลฮูเวอร์และรัฐบาลทรัมป์ การแก้ไขปัญหาด้วยการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมมากยิ่งขึ้นและไม่ได้แก้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพราะสินค้าของประเทศอุตสาหกรรมในยุโรปไม่อาจขายแข่งในตลาดสหรัฐฯ ได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจของยุโรปยิ่งทรุดตัว จึงไม่มีเงินซื้อสินค้าสหรัฐฯ และยังตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการตั้งกำแพงภาษีสินค้าขาเข้าสูงเช่นเดียวกัน ทำให้สหรัฐฯ ยิ่งส่งสินค้าออกได้น้อยลง

สงครามการค้าที่ตอบโต้กันด้วยการขึ้นกำแพงภาษีไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกเลย และในที่สุดหลายประเทศก็แข่งขันกันลดค่าเงิน อังกฤษตัดสินใจยกเลิกระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบมาตรฐานทองคำนำไปสู่การล่มสลายของระบบอัตราแลกเปลี่ยนมาตรฐานทองคำในที่สุด ต่อมาประธานาธิบดีฮูเวอร์พยายามบรรลุข้อตกลงกับนานาชาติเพื่อฟื้นฟูการค้าระหว่างประเทศแต่ก็ไม่เป็นผล การค้าระหว่างประเทศระหว่างปี 2472-2475 จึงตกต่ำจนมูลค่าการซื้อขายในวงการค้าโลกลดลงกว่าครึ่ง การเลือกตั้งสมัยต่อไปประชาชนได้เทคะแนนให้พรรคเดโมแครต ภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เลวร้ายขึ้นทุกทีประกอบกับความไม่พอใจของประชาชนในการแก้ไขปัญหาของฮูเวอร์ ทำให้แฟรงกลิน เดลาโน รูสเวลต์ จากพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีรูสเวลต์นำโครงการนิวดีลมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมทันทีตามที่ได้หาเสียงไว้ โดยตั้งปณิธานไว้ 3 ประการ ที่มีแนวคิดในการดำเนินนโยบายได้รับอิทธิพลจากลัทธิเคนเสี่ยน ที่เรียกว่า “The 3Rs” ได้แก่ การบรรเทาทุกข์ การฟื้นฟู และการปฏิรูป

ทาง DEIIT ประเมินว่า ผลบวกจากการย้ายฐานการผลิตของทุนจีนต่อไทยเพื่อเลี่ยงสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในครั้งนี้จะมีไม่มากนัก เนื่องจากในสงครามการค้ารอบนี้ไทยจะเป็นประเทศที่เป็นเป้าหมายที่จะถูกขึ้นกำแพงภาษีเช่นเดียวกัน เนื่องจากเกินดุลการค้าจากสหรัฐฯจำนวนมาก นอกจากนี้กลุ่มทุนสัญชาติจีนยังได้ย้ายฐานมาลงทุนไทยอย่างต่อเนื่องแล้วตั้งแต่ปี 2561 ไทยและอาเซียนจะเผชิญปัญหาภาวะสินค้าจีนทะลักเข้าสู่ตลาดภายใน โดยจีนจะเร่งระบายสินค้าออกมาจากปัญหากำลังการผลิตล้นเกิน ภาคการผลิตของไทยจะถูกสินค้าถูกทุ่มตลาดของจีนแย่งส่วนแบ่งภายในประเทศ การส่งออกไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดอาเซียนและตลาดโลกให้จีนเพิ่มขึ้นจากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาถดถอยลง ขณะที่เงินหยวนอ่อนค่า เงินบาทแข็งค่า โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มยานยนต์ สินค้าเหล็กและหมวดโลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ สินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น การบริโภคของไทยพึ่งพาสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไทยอาจได้รับผลบวกบ้างจากการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ทดแทนจีน และเป็นสินค้ากลุ่มที่สหรัฐฯ ไม่ได้เก็บภาษีจากไทยโดยตรง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.พ. 68)

Tags: , , ,
Back to Top