FSMART ทุ่มพันล้านดันพอร์ตสินเชื่อ 80% อัพเครื่องชาร์จ GINKA ผนึกคาเฟ่ “เต่าบิน” หนุน

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส [FSMART] กล่าวว่า ด้วยแผนงานเชิงรุกและการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทคาดว่ารายได้รวมในปีนี้จะเติบโต 10-15% จากปีก่อน โดยในปีนี้ทุกธุรกิจของ FSMART มีสัญญาณการเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเฉพาะธุรกิจสินเชื่อจะมีบทบาทสำคัญ ด้วยการขยายพอร์ตขึ้นอีก 80% ที่จะส่งผลให้กลุ่มธุรกิจบริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจรเติบโตอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับธุรกิจเติมเงินและรับชำระเงิน ที่ตู้บุญเติมยังคงเป็นหัวใจสำคัญ แม้ว่าการเติมเงินโทรศัพท์จะลดลง แต่การใช้บริการเติมอินเทอร์เน็ตและกระเป๋าเงิน Wallet มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้จากบริการเหล่านี้เข้ามาทดแทน

ขณะที่ธุรกิจอนาคตนั้น บริษัทยังเดินหน้าติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า GINKA ให้ครบตามเป้าหมาย โดยเตรียมนำเครื่องชาร์จ DC ขนาด 40 กิโลวัตต์ออกสู่ตลาด เพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า ส่วนเครื่องชงสดอัตโนมัติ “เต่าบิน” บริษัทยังคงรับส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้นตามสัดส่วน พร้อมร่วมหารือเตรียมเปิดตัว TAO BIN CAFE ที่มี “GINKA” ให้บริการอยู่ด้านหน้าที่มีแผนเปิดตัวอีกประมาณ 1-2 เดือนข้างหน้าอีกด้วย

FSMART วางเป้าหมายการเติบโตรวมปี 68 ไว้ที่ 10-15% หนุนจากการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจการเงินครบวงจร (สินเชื่อ) จะเป็นเรือธงกลยุทธ์สำคัญที่หนุนการเติบโตของบริษัทในปีนี้ โดยบริษัทวางงบลงทุน 1,000 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในการปล่อยสินเชื่อ หนุนสัดส่วนรายได้ธุรกิจสินเชื่อขยายตัวสู่ 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 25% ขณะที่ปี 67 มั่นใจผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่องจากปี 66

โดยกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจรมีผลงานที่โดดเด่นในปีที่ผ่านมา ทำให้ปีนี้บริษัทวางแผนเพิ่มลูกค้าองค์กรเดิมเป็น 200,000 ราย จากปัจจุบัน 100,000 ราย รวมถึงจะเพิ่มองค์กรใหม่ที่มีสมาชิกมากกว่า 500,000 รายอีก 1-2 กลุ่ม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาคาดเห็นความชัดเจนภายในไตรมาส 1/68 โดยจะบริหารจัดการภายใต้สินเชื่อ “บุญเติมเงินพร้อมใช้” บริการสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อผ่อนสินค้า และผลิตภัณฑ์สินเชื่ออื่นๆ รองรับความต้องการลูกค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อขยายพอร์ตสินเชื่อเพิ่มเป็น 1,800-2,000 ล้านบาทตามเป้าหมายที่วางไว้ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 80% จากปีก่อน จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยรักษาอัตรา NPL ไว้ให้ต่ำกว่า 3% จากปี 67 อยู่ที่ราว 4% ด้วยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน การเป็นตัวแทนธนาคาร 8 แห่ง บริษัทยังพร้อมขยายบริการรับฝาก-โอนเงินระหว่างประเทศ และการโอนเงินแบบรับทันทีเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ใช้งาน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในการทำธุรกรรมทางการเงินมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจเห็นบริการดังกล่าวในครึ่งหลังปี 68 แต่ยอดการใช้บริการอาจยังไม่ได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับกลุ่มธุรกิจเติมเงินและรับชำระเงิน ซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้หลักที่ 70% ปัจจุบันลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้บริการเติมเงินอินเทอร์เน็ต และการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงิน Wallet ผ่านตู้บุญเติมมากขึ้น จากเดิมบริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือเป็นบริการได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งในปีที่ผ่านมามียอดการทำธุรกรรมการเติมเงินซื้ออินเทอร์เน็ตเติบโตมากกว่า 50% การเติมเงินเข้ากระเป่า Wallet เติบโตมากกว่า 10% ดังนั้น ในปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดการเติมเงินซึ้อแพคเกจอินเตอร์เน็ต และการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงิน Wallet เติบโตจากปีก่อนราวๆ 10% โดยเน้นการรักษาระดับรายได้จากฐานลูกค้าประจำกว่า 14 ล้านเบอร์ ควบคู่กับการปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้ใช้สม่ำเสมอและรวดเร็ว

รวมถึงมุ่งมั่นขยายฐานลูกค้าที่ใช้งานตู้บุญเติมที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศกว่า 110,000 เครื่อง นอกจากนี้ ค่าเสื่อมราคาของตู้บุญเติมที่ทยอยลดลงและจะหมดภายใน 1-2 ปีข้างหน้า จะช่วยลดต้นทุนของบริษัทและเสริมสร้างศักยภาพในการทำกำไร ทำให้ปี 68 คาดว่าธุรกิจดังกล่าวจะเติบโตใกล้เคียงกับปีผ่านมา แต่กำไรคาดโตขึ้น ขณะที่สัดส่วนรายได้อาจลดลงมาที่ 65% โดยปีนี้เน้นขยายลูกค้ากลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ยังเติมเงินผ่านช่องทางอื่น และมีโอกาสที่บริษัทจะสามารถดึงเข้ามาใช้บริการได้

“ปีนี้ธุรกิจตู้เติมเงินดี รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเยอะ โดยไตรมาส 4/67 มีมาตรการแจกเงินหมื่นเฟสแรก ทำให้ยอดเติมเราโต ซึ่งปีนี้ที่จะมีมาตรการกระตุ้นทั้งปีทำให้รายได้หรือยอดเติมไม่ตก หรือใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา”

ขณะที่ธุรกิจอนาคต (S-Curve) อย่างสถานีชาร์จรถไฟฟ้า GINKA บริษัทยังเดินหน้าด้วยการขยายสถานีซาร์จต่อเนื่อง ทั้ง AC และ DC โดยปีนี้บริษัทจะนำเครื่อง DC ขนาด 40 กิโลวัตต์ออกมาทำตลาดเพิ่มเติมจากเครื่อง AC ขนาด 7 กิโลวัตต์และ 22 กิโลวัตต์ และทำการตลาดเชิงรุกด้วยโมเดลการลงทุนเครื่องชาร์จ พร้อมระบบไฟแบบครบวงจรสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของสถานีชาร์จแบบไม่ต้องใช้เงินก้อน บริษัทลงทุนให้ก่อน ผ่อนคืนทีหลัง หรือตามเงื่อนไขของบริษัท

รวมทั้งจะเปิดจุดชาร์จหน้าร้าน “เต่าบินคาเฟ่” คาดว่าจะเริ่มได้ในปีนี้ ซึ่งน่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ที่สนใจ และสนับสนุนให้ขยายจุดติดตั้งเพิ่มเติมให้ได้ 1,000 จุดชาร์จภายใน 2 ปี (68-69) จากปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 200 จุดชาร์จ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองแหล่งท่องเที่ยว นอกจากนี้ในไตรมาส 1/68 บริษัทเตรียมออกผลิตภัณฑ์ เครื่อง DC ชาร์จเร็ว ไซส์กลางขนาดเล็กกว่าเครื่อง DC ขนาด 40 กิโลวัตต์ ซึ่งคาดว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเป็นแรงหนุนให้ขยายตลาดได้มากขึ้น

FSMART ยังคงได้ส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้น 26.71% ในธุรกิจเครื่องจำหน่ายเครื่องดื่มและสินค้าอัตโนมัติ “เต่าบิน” ซึ่งบริหารงานโดยบริษัท ฟอร์ท เวนติ้ง จำกัด ซึ่งในปี 2568 เต่าบินตั้งเป้าขยายจำนวนตู้ให้ได้ 10,000 เครื่อง จากปัจจุบันที่มีมากกว่า 7,000 เครื่อง พร้อมเดินหน้าขยายฐานลูกค้าใหม่ ด้วยเคมเปญการตลาดที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และการพัฒนารสชาติใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า สร้างการซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เต่าบินยังมุ่งเน้นลดต้นทุนด้วยการเพิ่มศักยภาพของเครื่องจำหน่ายสินค้าให้ทำงานได้มากขึ้น พร้อมเปิดตัวโมเดลใหม่ “TAO BIN CAFE” ซึ่งมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า “GINKA” ติดตั้งอยู่ด้านหน้า โดยเริ่มต้นสาขาแรกที่สำนักงานใหญ่ BTS สนามเป้า และมีแผนขยายสาขาไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในอนาคต

ส่วนผลประกอบการไตรมาส 4/67 ที่จะประกาศในเร็ว ๆ นี้ยังเติบโตต่อเนื่องตามปกติที่เป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปี โดยเฉพาะธุรกิจตู้เติมเงินที่ได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 1 ในปีที่แล้ว และเฟส 2-3 ในปี 68 ซึ่งหนุนการเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าปีนี้จะเติบโตทุกไตรมาสอย่างต่อเนื่อง

บริษัทคาดว่าจะประกาศผลประกอบการไตรมาส 4/67 และปี 67 ได้ในวันที่ 27-28 ก.พ. 68

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.พ. 68)

Tags: , ,
Back to Top