Analysis: เบื้องหลังดีลควบรวม “ฮอนด้า-นิสสัน” ล่ม นักวิเคราะห์ชี้เคมีไม่ตรงกัน

การประกาศจับมือควบรวมธุรกิจครั้งประวัติศาสตร์ของบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) และนิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) ที่เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วอุตสาหกรรมยานยนต์เมื่อช่วงปลายปีที่แล้วนั้น ส่อเค้าล่มไม่เป็นท่า และทำให้ผู้ผลิตรถยนต์เบอร์สองและเบอร์สามของญี่ปุ่นต้องหันมาประเมินกลยุทธ์กันใหม่เพื่อให้ตนเองสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลกได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางฝั่งนิสสัน คาดว่าจะต้องดิ้นรนมากขึ้น จากเดิมที่เคยหวังพึ่งพาฮอนด้าให้ช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ร่อแร่ของตนเอง ก็มีแนวโน้มว่าจะต้องหันไปหาพันธมิตรรายใหม่ ท่ามกลางข่าวลือที่กลับมาสะพัดอีกครั้งว่า ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวัน เตรียมเสนอเข้าซื้อหุ้น

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ฮอนด้า และ นิสสัน ได้ประกาศว่าทั้งสองบริษัทตกลงที่จะเริ่มการเจรจาเกี่ยวกับการควบรวมกิจการภายใต้บริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งจะเกิดเป็นกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับสามของโลกเพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐฯ และจีน และจะก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในสองกลุ่มบริษัทยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เทียบเคียงกับโตโยต้า มอเตอร์ (Toyota Motor)

 

ความเท่าเทียมไม่มีอยู่จริง

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าววงในเปิดเผยเมื่อวันพุธ (5 ก.พ.) ว่า นิสสันเตรียมยุติการเจรจาควบรวมกิจการ เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับการรักษาความเป็นอิสระของฝ่ายบริหาร และความขัดแย้งกับฮอนด้าเกี่ยวกับมาตรการปรับโครงสร้างองค์กร

นักวิเคราะห์ด้านยานยนต์ ทาคากิ นากานิชิ กล่าวว่า แม้มาโกโตะ อูจิดะ ประธานบริษัทนิสสัน จะย้ำนักย้ำหนาเกี่ยวกับความเท่าเทียมเมื่อครั้งประกาศข่าวการควบรวมกิจการเมื่อเดือนธันวาคม แต่เอาเข้าจริงแล้ว การเจรจาควบรวมกิจการนั้นไม่เคยมีความเท่าเทียม

นากานิชิ ซึ่งเป็นซีอีโอของสถาบันวิจัยนากานิชิ กล่าวว่า ฮอนด้าตั้งใจที่จะ “ควบคุมนิสสัน” เพื่อก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก โดยแต่ละบริษัทจะต้องรักษาและบริหารแบรนด์ของตนเองภายใต้บริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งมีฮอนด้าเป็นผู้นำผ่านการแต่งตั้งประธานและสมาชิกคณะกรรมการส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม หลังไม่ได้รับการตอบสนองที่น่าพอใจจากนิสสันเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการควบรวมกิจการ ฮอนด้าจึงเสนอให้นิสสันเป็นบริษัทย่อย ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ผู้ผลิตรถยนต์จากโยโกฮามาคัดค้านอย่างรุนแรง

“เราควรจะทำงานร่วมกันภายใต้แผนนี้ เราไม่สามารถยอมรับการถูกกลืนได้” แหล่งข่าวใกล้ชิดกับนิสสันกล่าว

นากานิชิกล่าวว่า “ดูเหมือนว่าฮอนด้าได้เสนอซื้อกิจการนิสสันเพื่อพยายามแทรกแซงการบริหารโดยตรง เนื่องจากนิสสันไม่แสดงท่าทีกระตือรือต้นที่จะตอบสนองความคาดหวังของฮอนด้า”

 

เคมีไม่ตรงกัน

ตั้งแต่แรกเริ่ม ความเคลือบแคลงสงสัยได้ก่อตัวขึ้นเกี่ยวกับความลงตัวเข้ากันได้ระหว่างสองบริษัท ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญได้เปรียบเปรยเคมีของฮอนด้าและนิสสันว่าเหมือน ‘น้ำกับน้ำมัน’ โดยในขณะที่ฮอนด้าให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี นิสสันกลับมีภาพลักษณ์ของการเป็นองค์กรที่ยึดติดกับระบบราชการ

ในส่วนของนิสสันนั้น บริษัทต้องสู้รบปรบมือกับคู่แข่งท้องถิ่นในตลาดจีนที่เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่ถูกกว่า ขณะที่ธุรกิจในสหรัฐอเมริกาก็ประสบปัญหาเพราะขาดรถยนต์ไฮบริดรุ่นใหม่ ๆ ที่เป็นที่นิยม

ด้วยเหตุที่ทั้งนิสสันและฮอนด้าต่างมองว่า เป็นเรื่องยากที่จะอยู่รอดอย่างเป็นอิสระท่ามกลางความปั่นป่วนในอุตสาหกรรม จึงคาดว่าการค้นหาพันธมิตรรายใหม่น่าจะเป็นทางออก โดยเฉพาะในรายของนิสสัน

 

หาคู่ใหม่

นักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุที่นิสสันเริ่มเจรจาควบรวมกิจการกับฮอนด้านั้นก็เพื่อขัดขวางฟ็อกซ์คอนน์ไม่ให้เข้ามามีอิทธิพลเหนือฝ่ายบริหาร หลังจากที่ผ่านมาบริษัทไต้หวันพยายามใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีรถยนต์ของนิสสัน แต่เมื่อแผนการควบรวมกิจการระหว่างฮอนด้าและนิสสันล้มเหลว ฟ็อกซ์คอนน์ หรือชื่อเดิมว่า หงไห่ พรีซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co Ltd) อาจเพิ่มความพยายามในการซื้อหุ้นนิสสัน

แหล่งข่าวจากหงไห่เผยว่า เมื่อปลายปีที่แล้วบริษัทได้ติดต่อ เรโนลต์ เอสเอ (Renault SA) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของนิสสัน เพื่อขอซื้อหุ้นบางส่วนในผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น โดยเชื่อว่านิสสันประสบปัญหาในการพลิกฟื้นธุรกิจด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ หงไห่ซื้อบริษัทชาร์ป (Sharp Corp.) ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่นในปี 2559 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทต่างชาติเช้าเทคโอเวอร์กิจการบริษัทรายใหญ่ของญี่ปุ่น

“หากไม่มีแรงครอบงำจากภายนอก นิสสันจะยังคงไม่รู้สึกว่า สถานการณ์ของบริษัทกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต” แหล่งข่าวจากหงไห่กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.พ. 68)

Tags: , , , , ,
Back to Top