ผู้บริหาร ส.อ.ท.หนุนรัฐปรับโครงสร้างภาษีนำเข้า ค้านขึ้น VAT

ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 43 ในเดือน ม.ค.68 ภายใต้หัวข้อ “ความเห็นต่อนโยบายการปฏิรูปภาษีไทย” จากผู้บริหาร ส.อ.ท.จำนวน 125 คน ครอบคลุมผู้บริหาร 47 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่าผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ เห็นด้วย หากภาครัฐดำเนินการปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าก่อน เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศ และเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จากสงครามการค้าที่คาดว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยที่จะมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในช่วงเวลานี้

ผู้บริหาร ส.อ.ท. ให้ความสำคัญกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน เป็นปัจจัยหลักที่ควรต้องนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินนโยบายปฏิรูปภาษี โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) และกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ทำให้สินค้าส่งออกไทยตามเทรนด์เทคโนโลยีโลกไม่ทัน ส่งผลทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปจากเดิม การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว

ขณะเดียวกันแนวทางการปฏิรูปภาษีควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีแผนและกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน ให้ภาคธุรกิจปรับตัว ตลอดจนออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราภาษีแก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า การปรับภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม Global Minimum Tax ในอัตรา 15% ที่มีผลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.68 อาจทำให้ภาครัฐไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนได้ดังเดิม ดังนั้น ภาครัฐต้องคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันด้านการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศด้วย เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ โลจิสติกส์ ฯลฯ

พร้อมทั้งเตรียมปรับปรุงกฎระเบียบ และเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องเหมาะสม และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม (Rule of law กฎหมายสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์) ตลอดจนพัฒนาคุณภาพการศึกษา และส่งเสริมแรงงานทักษะสูงรองรับเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าสูง

ผลสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 43 ทั้ง 6 คำถาม ดังนี้

1) ปัจจัยใดที่ควรนำมาประกอบการพิจารณาในการดำเนินนโยบายการปฏิรูปภาษีไทย

อันดับ 1 : โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม67.2%
อันดับ 2 : ความสามารถในการแข่งขันในด้านภาษีกับประเทศคู่แข่ง66.4%
อันดับ 3 : เสถียรภาพทางการคลังและประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี39.2%
อันดับ 4 : แนวทางการปฏิบัติตามกฎกติกาสากล เช่น OECD13.6%

2) ภาครัฐควรดำเนินนโยบายการปฏิรูปภาษีไทยอย่างไร

อันดับ 1 : ปรับโครงสร้างภาษีอย่างค่อยเป็นค่อยไปควบคู่กับมาตรการบรรเทาผลกระทบ62.4%
อันดับ 2 : ขยายฐานภาษีและส่งเสริมให้เศรษฐกิจเข้ามาอยู่ในระบบ52.0%
อันดับ 3 : การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านภาษี44.0%
อันดับ 4 : ยึดหลักการลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และการเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สิน25.6%

3) การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม Global Minimum Tax ที่อัตรา 15% จะส่งผลดีอย่างไร

อันดับ 1 : ลดต้นทุนทางภาษีให้กับบริษัท เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน59.2%
อันดับ 2 : ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) และลดแรงจูงใจที่นักลงทุนจะย้ายฐานไปประเทศที่มีภาษีต่ำกว่า44.8%
อันดับ 3 : ส่งเสริมความเท่าเทียมในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้มาตรฐานภาษีที่เท่าเทียม43.2%
อันดับ 4 : ช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนซ้ำภายในประเทศและมีมาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่ภาษีเพิ่มมากขึ้น27.2%

4) ภาคอุตสาหกรรมกังวลต่อการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม Global Minimum Tax ที่อัตรา 15% ในเรื่องใด

อันดับ 1 : ความสามารถในการแข่งขันด้านการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศด้านอื่นๆ เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ โลจิสติกส์ ฯลฯ64.0%
อันดับ 2 : การปรับสิทธิประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI44.0%
อันดับ 3 : การปรับตัวของผู้ประกอบการจากการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลตาม GMT36.0%
อันดับ 4 : แผนการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ (FDI) อาจหยุดชะงัก16.8%

5) ภาคอุตสาหกรรมมีความเห็นต่อนโยบายการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อย่างไร

อันดับ 1 : ไม่เห็นด้วย62.4%
อันดับ 2 : เห็นด้วย37.6%

6) ภาครัฐควรเร่งพิจารณาปรับปรุงภาษีประเภทใด

อันดับ 1 : ภาษีนำเข้า48.8%
อันดับ 2 : ภาษีนิติบุคคล44.8%
อันดับ 3 : ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง38.4%
อันดับ 4 : ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)32.8%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.พ. 68)

Tags: , , , , ,
Back to Top