![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2025/02/C838F7875C09F363A956E3619B6B723A.jpg)
นายอิทธิชัย พูลวรลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิว เอส โอ แอล [WSOL] หรือ วิน โซลูชั่น ประกาศแผนหลัก 3 ปี พลิกฟื้นธุรกิจภายใต้ร่มเงาเดิมของ บมจ.สบาย เทคโนโลยี [SABUY] หลังปลดล็อกภาระสำคัญ Tier แรก ยืดหนี้หุ้นกู้เกือบ 4 พันล้านบาทและลดดอกเบี้ยลง ซึ่งจะเดินหน้าแก้ปมปัญหาเปลาะต่อไปคือเจรจาหนี้แบงก์ ก่อนเข้าสู่ Tier 2 ฟื้นฟูผลประกอบการและจัดทัพใหม่ทั้งกลุ่ม และ Tier 3 จัดการกับ Asset ที่มีทั้งหมด พร้อมเปิดกว้างขายทิ้ง-หาพันธมิตรร่วมทุนทุกธุรกิจในเครือ วางเป้าหมายแรกทำ EBITDA ให้กลับมาเป็นบวกภายในไตรมาส 1/68 ก้าวต่อไปทยอย Spin-off บริษัทในเครือเข้าตลาดหุ้น
“ต้น Q ที่แล้วกดดันมาก แต่พอเดือนธันวา หนี้ (หุ้นกู้) หายไป 4 พัน ดอกเบี้ยลดเหลือ 2% หายไป 360 ล้านบาท เราก็ Relax มากขึ้นแล้ว”นายอิทธิชัย กล่าวถึงงานสำคัญงานแรกที่เข้ามารับหน้าที่ซีอีโอ WSOL
ทั้งนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 4 รุ่น ประกอบด้วย รุ่น SABUY24DA, SABUY254A, SABUY258A และหุ้นกู้รุ่นมีหลักประกัน SABUY263A มีมติอนุมัติแนวทางการแก้ไขปัญหา วาระสำคัญ คือ เลื่อนวันครบไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไป 3 ปี ลดอัตราดอกเบี้ยเป็น 2%, 2%, 5%, 7% ในปี 68-71 ตามลำดับ ไม่ถือเป็นเหตุผิดนัด (Default)
นายอิทธิชัย กล่าวว่า บริษัทยังคงเดินหน้าแผนปรับโครงสร้างการบริหารของบริษัทในเครืออย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ธุรกิจในเครือสามารถดำเนินงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรในทุกด้าน และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
ปัญหาของ SABUY มีค่อนข้างมาก ธุรกิจเข้าใจยากและซับซ้อน ด้วยโครงสร้างของกลุ่มบริษัทที่มีบริษัทในเครือถึง 50 บริษัทกระจายอยู่ในหลากหลายธุรกิจ และมีหนี้สินมากถึงราว 6 พันล้านบาท แบ่งเป็นหนี้หุ้นกู้ 3,850 ล้านบาท หนี้กับสถาบันการเงินและบุคคลราว 2 พันล้านบาท และยังมีหนี้กับซัพพลายเออร์อีกส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำให้ SABUY ยังมีมูลค่าคือสินทรัพย์ที่มีสูงถึง 9 พันล้านบาท นอกจากนั้นยังมีลูกหนี้ในหลักพันล้านบาท
และหลายธุรกิจที่มีอยู่มีอนาคตที่ดี สัดส่วนรายได้หลัก 50% มาจากกลุ่มธุรกิจไฟแนนซ์ ส่วนธุรกิจ B2C และ B2B มีสัดส่วนรายได้อย่างละ 25% บริษัทจะจัดกลุ่มธุรกิจใหม่ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นธุรกิจที่มองว่าไม่มี Value พอ ก็จะตัดขายออกไปเป็นลำดับแรก กลุ่มที่ 2 เป็นธุรกิจที่มี Value แต่ไม่ใช่ Core Business หรือธุรกิจที่ถือหุ้นอยู่แต่ไม่ได้ร่วมบริหาร ก็จะทยอยขายหุ้นในมือออกไปเช่นกัน ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นธุรกิจที่มีอนาคต จะมีแผนจัดการไม่จำกัดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อาจจะเดินหน้าต่อ หาพันธมิตรเข้ามาร่วมธุรกิจ หรือหากได้ราคาดีก็อาจจะขายออกไป เงินส่วนใหญ่ก็จะนำไปใช้หนี้
“เรา Open ทุกโอกาส ถ้าจะขายก็ขึ้นกับราคา หรือถ้าเป็นธุรกิจหลักก็อาจจะขายให้กับพันธมิตรที่ Synergy กันได้ หรือถ้าแบ่งขายให้แล้วช่วยให้เราเดินต่อไปได้ดีขึ้น ถึงเป็น Core เราก็ไม่จำเป็นต้องถือทั้ง 100% แต่ต้องดำเนินธุรกิจต่อไปได้”นายอิทธิชัย กล่าว
นายอิทธิชัย กล่าวว่า จากนี้ไป WSOL จะเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านโซลูชั่นที่จะตอบโจทย์ให้กับทั้ง B2B และ B2C รวมถึงให้บริการด้านไฟแนนซ์ที่มีไลเซ่นส์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งปัจจุบันมี 8 ธุรกิจหลัก คือ เติมสบายพลัส ธุรกิจตู้เติมเงิน, เลิฟลีสซิ่ง ปล่อยสินเชื่อสินค้าอุปโภคบริโภค, พลัส เทค อินโนเวชั่น รับผลิตบัตรพลาสติก, สบายโซลูชั่น ให้บริการระบบชำระเงินในฟู้ดคอร์ด, สบายสปีด รับส่งพัสดุ, เวนดิ้งพลัส ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ, ล็อคบอกซ์ ให้บริการเช่าล็อคเกอร์ , สบายวอช ให้บริการเครื่องซักผ้าอัตโนมัติ
ในด้านการดำเนินธุรกิจสิ่งที่จะเน้นหนักในขณะนี้คือ ทำให้ธุรกิจหลักเหล่านี้สร้าง Cash Flow กลับเข้ามาให้กับบริษัทให้มากที่สุด ซึ่งในปีที่ผ่านมากลุ่มบริษัททั้งหมดสร้าง Cash Flow ราว 100 ล้านบาท ขณะที่หลายบริษัทยังมีสินทรัพย์ที่มีศักยภาพ ยกตัวอย่าง ตู้จำหน่ายสินค้า ที่มีสต็อกอยู่มากเป็นหมื่นตู้ หรืออย่าง สบาย โซลูชั่น ก็ยังมีตลาดที่สามารถนำเสนอบริการได้อีกมาก โดยมีเป้าหมายแรกที่จะพลิก Ebitda ให้กับมาเป็นบวกให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ และเป้าหมายในอนาคตหากบริษัทใดมีความพร้อมก็จะทยอยนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ขณะเดียวกัน บริษัทจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาด้านภาพลักษณ์ด้วยการเสริมด้าน CG เชิญบุคลากรที่มีน่าเชื่อถือและอยู่วงการที่เสริมความแข็งแกร่งในด้านนี้เข้ามาเป็นผู้บริหาร บอร์ด และบอร์ดอิสระ นำไปสู่การฟื้นตัวของฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทในอนาคต นอกจากนั้นยังได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจในอดีตว่ามีส่วนใดที่ผิดปกติหรือทำให้บริษัทประสบปัญหาทางธุรกิจหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับปากกับที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในระหว่างการพิจารณาวาระขอยืดหนี้ไว้
นายอิทธิชัย กล่าวว่า ล่าสุด คณะกรรมการ บมจ.พลัส เทค อินโนเวชั่น [PTECH] ซึ่งเป็นบริษัทในเครือแต่งตั้งนายวิเลิศ อรวรรณวงศ์ เข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ส่วนตนเองจะเข้ามานั่งเป็นรองประธานกรรมการบริษัท และนายสมชาย สิริปัญญานนท์ เป็นประธานบอร์ดบริหาร
ายหลังการแต่งตั้งในครั้งนี้ คณะกรรมการ PTECH ประกอบด้วย
1.) นาย ขรรค์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการบริษัท
2.) นายอิทธิชัย พูลวรลักษณ์ กรรมการ/รองประธานกรรมการบริษัท
3.) นายวิเลิศ อรวรรณวงศ์ กรรมการ/ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
4.) นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ กรรมการอิสระ
5.) นายพรเทพ ศิริวนารังสรรค์ กรรมการอิสระ
6.) นายนันทสิทธิ์ บุญทนันท์ กรรมการอิสระ (ทดแทน)
7.) นายภาคภูมิ ภูอุดม กรรมการ
![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2025/02/0AAB6761902B73404A475209FEA58CCE.jpg)
“เชื่อว่าการเข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของคุณวิเลิศในครั้งนี้ จะขับเคลื่อน PTECH ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น จากประสบการณ์ด้าน IT Solutions ที่ยาวนาน และความเชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การบริหารงาน อีกทั้งยังมีคณะผู้บริหารใหม่ที่จะเข้ามาช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เพื่อดูแลผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นอีกด้วย” นายอิทธิชัย กล่าว
PTECH หรือชื่อเดิมคือ บมจ.ไทย บริติช ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง [TBSP] เป็นผู้ผลิตบัตรเครดิต (Visa & MasterCard) โดยให้บริการในรูปแบบบัตรเดบิต (Debit Card) และบัตรเครดิต (Credit Card) ภายในบัตร EMV มีการฝังแผงวงจรขนาดเล็ก (Micro Chip) สำหรับเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน และเป็นผู้นำด้านการผลิตบัตรพลาสติกประเภทต่างๆ พร้อมทั้งให้บริการบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลลงบนบัตรด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย รับจัดหาเอกสารประกอบบรรจุบัตรลงในซองจดหมาย เพื่อเตรียมพร้อมในการส่งไปตามช่องทางต่างๆ อย่างครบวงจร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.พ. 68)
Tags: SABUY, WSOL, ดับบลิว เอส โอ แอล, สบาย เทคโนโลยี, อิทธิชัย พูลวรลักษณ์