“ปูติน” กังวลมากขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจรัสเซีย ขณะ “ทรัมป์” เล็งคว่ำบาตรเพิ่ม

แหล่งข่าวเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน มีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความบิดเบือนของเศรษฐกิจรัสเซียในช่วงสงคราม ในขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผลักดันให้รัสเซียยุติความขัดแย้งในยูเครน

เศรษฐกิจของรัสเซียที่ขับเคลื่อนโดยการส่งออกน้ำมัน ก๊าซ และแร่ธาตุ ได้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้ถูกคว่ำบาตรหลายรอบจากชาติตะวันตกหลังจากเปิดฉากรุกรานยูเครนในปี 2565 ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเริ่มมีปัญหาในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน และอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วขณะที่มีการใช้จ่ายด้านการทหารที่สูงเป็นประวัติการณ์

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้กลุ่มชนชั้นนำของรัสเซียคิดว่า การเจรจาเพื่อยุติสงครามเป็นสิ่งที่พึงประสงค์

ทรัมป์ซึ่งเพิ่งกลับเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันจันทร์ (20 ม.ค.) ให้คำมั่นว่าจะยุติความขัดแย้งในยูเครนโดยเร็ว โดยในสัปดาห์นี้เขาระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มการคว่ำบาตรและเก็บภาษีศุลกากรจากรัสเซีย หากปูตินไม่ยอมเจรจา พร้อมระบุเสริมว่า เศรษฐกิจของรัสเซียจะเผชิญปัญหาใหญ่

เจ้าหน้าที่อาวุโสของเครมลินกล่าวในวันอังคาร (21 ม.ค.) ว่า จนถึงขณะนี้ รัสเซียยังไม่ได้รับข้อเสนอที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการเจรจา

“แน่นอนว่า รัสเซียสนใจที่จะเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งด้วยวิธีการทางการทูต” โอเล็ก วียูกิน อดีตรองประธานธนาคารกลางรัสเซียกล่าวในการให้สัมภาษณ์ โดยระบุถึงความเสี่ยงของความบิดเบือนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากรัสเซียเร่งการใช้จ่ายด้านการทหารและกลาโหม

รอยเตอร์รายงานก่อนหน้านี้ว่า ปูตินพร้อมที่จะหารือกับทรัมป์เกี่ยวกับทางเลือกในการหยุดยิง แต่มีเงื่อนไขว่าการยึดครองดินแดนของรัสเซียในยูเครนต้องได้รับการยอมรับ และยูเครนต้องล้มเลิกความตั้งใจที่จะเข้าร่วมกับองค์การนาโตที่นำโดยสหรัฐฯ

เพียงไม่กี่วันก่อนการเข้ารับตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนก่อนหน้าอย่างโจ ไบเดน ได้ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา ซึ่งมุ่งเป้าไปที่รายได้จากน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย โดยที่เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของไบเดนระบุว่า มาตรการนี้จะช่วยให้ทรัมป์มีอำนาจต่อรองในการเจรจาโดยการกดดันทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย

ปูตินกล่าวว่ารัสเซียสามารถต่อสู้ได้นานเท่าที่จำเป็น และรัสเซียจะไม่ยอมก้มหัวให้กับอำนาจอื่นใดเกี่ยวกับผลประโยชน์สำคัญของชาติ

ทั้งนี้ หลังจากการหดตัวในปี 2565 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของรัสเซียเติบโตเร็วกว่าสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ในปี 2566 และ 2567 อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ธนาคารกลางและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตจะต่ำกว่า 1.5% แม้ว่ารัฐบาลคาดการณ์ในแง่ดีมากกว่าเล็กน้อย

ส่วนเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจนเกือบแตะตัวเลขสองหลัก แม้ธนาคารกลางรัสเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานเป็น 21% ในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ม.ค. 68)

Tags: , , , ,
Back to Top